สี่คนหาม สามคนแห่ คนเดียวนั่งแคร่ สองคนพาไป |
(๑) สี่คนหาม หมายถึง ตัวเราที่ประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุดิน หมายถึงหนัง ขน เล็บ กระดูก เนื้อ หัวใจ ตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ เป็นต้น
ธาตุน้ำ หมายถึงน้ำตา น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำเลือด เป็นต้น
ธาตุลม หมายถึงลมหายใจ และลมเข้า ออกทุกทวาร
ธาตุไฟ หมายถึงความร้อนในร่างกาย
เราจะมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง เราก็จะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ต้องตาย เช่น ขาดธาตุดิน ไม่มีหนัง ขน เล็บ กระดูก เนื้อ หัวใจ ตับไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ เป็นต้น ก็ต้องตายเช่นกัน ขาดธาตุน้ำ ไม่มีน้ำเลือด น้ำเหลือง และน้ำอื่น ๆ หล่อเลี้ยงร่างกาย ก็ต้องตาย ขาดธาตุลม ไม่มีลมหายใจเข้าออก ก็ต้องตาย ขาดธาตุไฟ ร่างกาย จะขาดความร้อน ความอบอุ่น ร่างกายก็จะเย็นและตายในที่สุด
เพราะฉะนั้น คำว่า สี่คนหาม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่หามร่างกายเราไว้ให้มีชีวิตอยู่ประกอบขึ้นเป็นตัวตน บุคคล และเคลื่อนไหวได้ ดังที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ นี่คือ ความหมายของคำว่า “ สี่คนหาม ”
(๒) สามคนแห่ หมายถึง กิเลสทั้ง ๓ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง
ความโลภ หมายถึง ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น อยากรวยก็จะพาให้เราไปหาทรัพย์สินเงินทอง แม้อยู่ไกลก็มีความพยายามไปเอาทรัพย์สมบัตินั้น ๆ จะได้มาโดยวิธีใดก็ตามจะถูกหรือผิดกฎหมาย หรือผิดครรลองคลองธรรม จะทุกข์ยากลำบาก แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใดก็ยอม เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตนนี้คือความโลภ เป็นกิเลสข้อที่ ๑ ที่แห่พาเราไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว
ความโกรธ หมายถึง ความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ขัดข้องหมองใจ จนเกิดความอาฆาต พยาบาท ปองร้ายผู้อื่นเป็นเหตุ พาให้จิตใจร้อนรนกระวนกระวาย คิดหาทางทำร้าย ทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่นด้วยวิธีต่าง ๆ นานา เช่น มีความโกรธมากอยากฆ่า ก็จะไปหาอาวุธร้ายเพื่อทำลายชีวิตผู้อื่น ถ้าทำเองไม่ได้ก็จ้างวานผู้อื่นให้ทำแทน ถ้าความโกรธลดน้อยลง ก็จะหาทางทำร้ายร่างกาย โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ใช้ไม้ ใช้มือหรือเท้าของตนเองทำร้ายผู้อื่น ถ้าความโกรธลดน้อยลงไปอีกก็จะใช้วาจา ด่าว่า ใส่ร้ายให้เสียใจและ เสียชื่อเสียง นี่คือ ความโกรธ เป็นกิเลสข้อที่ ๒ ที่แห่พาเราไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว
ความหลง หมายถึง ความเข้าใจผิด คิดว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่มีอยู่ในโลกนี้ ทำให้เรามีความสุข จึงเกิดความรักใคร่พอใจในสิ่งเหล่านั้น เช่น ชายรักหญิง หญิงรักชาย ยึดมั่นถือมั่นลุ่มหลงมัวเมา เพราะหลงใหลในรสของกามารมณ์ ยึดมั่นว่าเป็นความสุข จึงไขว่คว้าหามา แม้จะเสียทรัพย์มากมายก็ยอม เพื่อให้ได้หญิงที่ตนต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะตามมา หรือหลงใหลในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าใจผิด คิดว่าเป็นความสุขที่แท้จริง และยั่งยืน จึงเกิดการแสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็จะทำ จะสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือผู้อื่นก็ตาม เมื่อได้ทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้วก็หาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่ ได้ลาภก็ทุกข์เพราะลาภ มียศก็ทุกข์เพราะยศ มีสรรเสริญมีนินทาก็เป็นทุกข์ มีสุขเดี๋ยวก็กลายเป็นทุกข์ ดังคำสอนพระผู้มีพระภาคเจ้า บทที่ว่า โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เป็นของคู่กันดังนี้ มีลาภเป็นทางโลก เสื่อมลาภเป็นทางธรรม มียศเป็นทางโลก เสื่อมยศเป็นทางธรรม มีสรรเสริญเป็นทางโลก มีนินทาเป็นทางธรรม มีสุขเป็นทางโลก มีทุกข์เป็นทางธรรม เมื่อเกิดความพอใจในสิ่งใดก็มีความสุขในสิ่งนั้น เมื่อไม่พอใจในสิ่งเดียวกันนั้นก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น ความหลงเป็นกิเลสข้อที่ ๓ ที่แห่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของเราของเขา แท้ที่จริงแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นของเรา หรือเป็นของใครทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ชาวโลกสมมุติขึ้นว่าเป็นสมบัติแล้วก็ผลัดกันชม นี่คือความหมายของคำว่า “สามคนแห่”
(๓) คนเดียวนั่งแคร่ คนเดียว หมายถึง วิญญาณเป็นนามธรรมที่มีอยู่ในตัวเรา ซึ่งมีหน้าที่รับรู้สิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น เช่น ตาเห็นรูป วิญญาณก็รับรู้ว่าเป็นรูป หูได้ยินเสียง วิญญาณก็รับรู้ว่าเป็นเสียง จมูกได้กลิ่น วิญญาณก็รับรู้ว่าเป็นกลิ่น ลิ้นลิ้มรส วิญญาณก็รับรู้ว่าเป็นรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กายกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง วิญญาณก็รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กระทบใจ วิญญาณก็รับรู้จะเกิดอารมณ์พอใจ หรือไม่พอใจ ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่ในขณะนั้น นี่คือความหมายของคำว่า
“ คนเดียว ”
ส่วนแคร่นั้น คือ ร่างกายเราที่เรียกว่า รูป มีธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นกำลังของแคร่นี้คือความหมายของคำว่าแคร่เพราะฉะนั้น คนเดียวนั่งแคร่ หมายถึง วิญญาณที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน
(๔) สองคนพาไป หมายถึงกรรมดีและกรรมชั่ว ผู้ที่ทำกรรมชั่ว เช่นคนที่ทำผิดกฎหมาย ฆ่าคน ปล้น จี้ ก็จะถูกศาลพิพากษาให้รับโทษตามกฎหมาย ถูกประหารชีวิตหรือจำคุก เมื่อตายไปแล้วกรรมชั่วจะพาวิญญาณไปเกิด ณ อบายภูมิใด ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ทำกรรมดี เช่นเป็นคนดี มีการให้ทาน นำศีลมารักษา กาย วาจา มีคุณธรรมประจำใจ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อตายไปกรรมดีที่ทำไว้มากก็จะส่งผลให้ไปเกิดในที่ดี มีความสุข ส่วนผู้ที่ทำชั่วไว้มากก็จะไปเกิดในที่ไม่ดี มีความทุกข์ นี่คือ ความหมาย ของคำว่า “สองคนพาไป”
สรุปว่า มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน วัฏสงสาร ไม่จบไม่สิ้น เพราะว่ามีสี่คนหาม สามคนแห่ คนเดียวนั่งแคร่ สองคนพาไป ถ้าหากท่านไม่ต้องการให้มี สี่อย่างนี้ ท่านต้องทำลาย ธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ให้หมดสิ้นไป นั้นคือการชำระกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่ต้องมาเวียนว่าย ตายเกิดพ้นจากวัฏสงสาร เข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้น สู่แดนนิพพาน ชั่วนิจนิรันดร
4คนหาม=เกิด. แก่. เจ็บ ตาย
3คนแห่=ความโลภ. ความโกรธ ความหลง
1คนนั่งแคร่=ตัวเราเอง
2คนพาไป= ความดีและความชั่ว. เลือกเดินว่าจะเดินทางไหน
4 คนหาม คือ ดินน้ำลมไฟ
3 คนแห่ คือ กิเลศทั้ง 3 คือ โลภะ โทสะ โมมะ คอยแห่เราไปโน่นนี่นั่น
1 คนนั่งแคร่ คือ จิต
2 คนพาไป คือ บุญ และ บาป ที่พาไปเกิดยังที่ต่างๆ
ดินน้ำลมไฟในที่นี้หมายถึงธาตุทั้ง 4 นะครับ