เข้า – ออก วัดอย่างไรจึงจะได้บุญ
ชาวพุทธทั้งหลาย ยังมีความเข้าใจผิดอยู่ อีกมาก ว่าถ้าเข้าวัดแล้วต้องได้บุญแน่นอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ปู่ย่า ตายาย ส่วนมากไม่ได้คำนึงถึงว่า ก่อนที่จะไปวัดต้องคิดอย่างไร การเข้าวัด หรือออกวัดจึงจะได้บุญที่แท้จริง เช่นจะไปวัดต้องเตรียมใจให้ทาน พร้อมที่จะเสียสละทรัพย์สินเงินทอง เสบียงอาหาร ปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ เพื่อลดความหลงในทรัพย์ ลดความตระหนี่เหนียวแน่น และพร้อมใจให้ทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังว่าจะนำอาหารไปถวายพระภิกษุ สามเณร ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว นำคำสอนเหล่านั้นไปสอนให้พุทธศาสนิกชนให้รู้และปฏิบัติตาม ถือว่า “เข้าวัดได้บุญอย่างแท้จริง ”
ยกตัวอย่างเช่น การทำบุญด้วยการให้ทานแล้ว เมื่อพระภิกษุ ให้ศีลก็น้อมใจรับ แล้วนำศีลมารักษากาย วาจาให้สะอาดปราศจากความชั่วตามศีลแต่ละข้อที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้งดเว้น มีศีล 5 หรือศีล 8 ซึ่งเป็นศีลของฆราวาส ขณะพระภิกษุแสดงธรรม ก็ต้องมีสติควบคุมจิตให้อยู่กับการฟังธรรม ไม่สนใจที่จะพูดคุยกับผู้อื่น มีสมาธิในการฟัง ตั้งใจฟังธรรม แล้วนำคำสอนมาพิจารณาและปฏิบัติตาม เพื่อสอนใจให้คลายจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ใจจะได้คลายลง ขณะอยู่ที่วัดก็พยายามใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่นช่วยทำความสะอาดบริเวณวัด ล้างห้องน้ำ เป็นต้น ถ้าเราได้อาบน้ำ หรือใช้ห้องน้ำ ใช้พัดลม ใช้ไฟฟ้า ก็ไม่สมควรจะใช้ของวัดฟรี ๆ ควรจะช่วยบริจาคเงินเป็นค่าน้ำ ค่าไฟด้วย ถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ถือว่า “ ขณะอยู่ที่วัดได้บุญอย่างแท้จริง ”
เมื่อเข้าวัดไปให้ทานนำศีลมารักษากาย วาจา ฟังธรรมครบ ๑ วัน ๑ คืนแล้ว รุ่งเช้าจะกลับบ้านควรสำรวจตรวจดูตัวเองว่า การเข้าวัด วันหนึ่งกับคืนหนึ่งนั้น เราได้อะไรกลับไปบ้าง ทานที่ให้นั้นบริสุทธิ์หรือไม่ กาย วาจา สะอาดปราศจาก ความชั่วหรือไม่ การฟังธรรมได้ความรู้หรือที่เรียกว่าได้ปัญญาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อกลับบ้านก็ไม่ควรนำสิ่งของต่าง ๆ ในวัดติดตัวกลับบ้านด้วย แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควร นี้เรียกว่า “ออกวัดได้บุญอย่างแท้จริง”
เข้า – ออก วัดอย่างไรที่เป็นบาป
การเข้าวัดที่ไม่ถูกต้อง เช่นคิดว่าจะนำอาหารไปถวายพระ ก็ไม่ได้เตรียมใจให้ทาน ไม่พร้อมที่จะเสียสละทรัพย์สินเงินทอง เสบียงอาหาร ปัจจัย ไทยธรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะลดความหลงในทรัพย์สมบัติ ไม่ลดความตระหนี่เหนียวแน่นแต่อย่างใด กลับคิดว่า ไปวัดวันนี้ จะต้องได้สิ่งของต่าง ๆ กลับไปบ้านมากกว่าที่นำมา ซ้ำยังเตรียมอุปกรณ์ในการใส่อาหาร และข้าวของต่าง ๆ กลับบ้านด้วย เช่น เตรียมถุงพลาสติกมาด้วย เป็นต้น
เมื่อไปถึงวัดแล้ว ไม่ได้น้อมใจในการให้ทาน กลับคิดตรงกันข้าม จิตใจมีแต่ ความโลภ เที่ยว สอดส่ายสายตา แสวงหาอาหาร และสิ่งของต่าง ๆ ในวัด ที่ตนต้องการ เพื่อจะนำกลับไปกินไปใช้ที่บ้าน บางวัดถึงกับมีการยื้อแย่ง ทะเลาะเบาะแว้ง โกรธเคืองกันเพราะขาดคุณธรรมคือ หิริ โอตตัปปะโดยไม่มีความละอายต่อบาป และเกรงกลัวต่อบาป ที่จะเกิดขึ้นกับตน นี่คือ “การเข้าวัดที่เป็นบาป” เพราะมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นพื้นฐาน ของจิตใจ
ขณะอยู่ที่วัด ทานที่ให้ก็ให้ด้วยใจไม่บริสุทธิ์ นำสิ่งของไปเพียงเล็กน้อย แล้วยังคิดหวังจะเอากลับบ้านให้มากกว่าเดิม ศีลที่พระภิกษุให้ ก็ไม่ได้นำมารักษากาย วาจา ให้สะอาดแต่อย่างใด บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ศีลนั้นคืออะไร ศีลแต่ละข้อห้ามอะไรบ้าง เมื่อพระภิกษุแสดงธรรมก็ไม่ได้สนใจว่า ท่านสอนเรื่องอะไร กลับคุยกันเสียงดังแข่งกับเสียงที่พระเทศน์ ทำให้ผู้อื่นเกิดความรำคาญใจ เป็นการทำลายสมาธิของผู้ที่สนใจในคำสอน หรือเมื่อใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ใช้พัดลมของวัดแล้ว ก็ไม่คิดที่จะเสียสละเงินทองช่วยเหลือวัดแต่อย่างใด กลับใช้อย่างสนุก เห็นว่าเป็นของฟรี ก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ แม้แต่วัดวาอารามที่รกร้าง ก็ไม่คิดจะช่วยทำความสะอาด หวังแต่เพียงว่ามาวัดแล้ว ก็หาความสะดวกสบายให้กับตนเองเท่านั้น นี่คือ “การอยู่วัดเป็นบาป”
เมื่อออกจากวัดก็ได้บาปไปด้วย ถึงเวลาออกจากวัด ก็ไม่ได้นึกถึงทานที่ได้ให้ ไม่ได้นึกถึงศีลที่ได้รับ ไม่ได้นึกถึงคำสอนที่พระท่านเทศน์ เพราะไม่เคยสนใจถึงผลของการให้ทาน ผลของการนำศีลมารักษา กาย วาจา และไม่สนใจในการฟังธรรม เพราะไม่มีสมาธิ จิตกลับทุกข์ร้อนกระวนกระวาย ว่าจะได้อะไรจากวัดนี้กลับไปบ้านบ้าง เป็นต้นว่า อาหารการกิน เครื่องใช้สอยบางอย่าง ถ้าได้ตามที่ต้องการก็ยินดีพอใจ โดยไม่รู้ว่าจิตใจของตนถูกกิเลส คือ ความโลภ และความหลงเข้าครอบงำ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า วันนี้มาวัดไม่ได้อะไรกลับบ้านเลย ถ้าเห็นคนอื่นที่เขาได้สิ่งของต่าง ๆ ก็คิดอิจฉาริษยา พูดจาส่อเสียดให้เกิดการแตกความสามัคคีกัน เป็นต้นว่าคนนั้นได้มาก คนนี้ได้น้อย แบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวก คนเหล่านี้ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ ขาดหิริโอตตัปปะ คือขาดความละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ขาดสติสัมปชัญญะ คือระลึกไม่ได้ ไม่รู้ตัวว่า กำลังคิด กำลังพูด กำลังทำอะไรอยู่ เป็นบาปหรือเป็นบุญ เป็นคุณหรือเป็นโทษ เขาเหล่านั้น เป็นบุคคลที่น่าสงสาร และน่าสมเพชเป็นอย่างยิ่งนี่คือ “ออกวัดเป็นบาป”
มีชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คิดแตกต่างจากที่ได้กล่าวมาแล้ว คือคนกลุ่มนี้จะเข้าวัดตามประเพณี ตามสังคมนิยม ว่าการไปวัดเป็นการประกาศให้รู้ว่า เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่คิดอะไรมาก ใครชักชวนให้กระทำกิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา ก็ยินดีร่วมทำ เช่นเขาชักชวนให้สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างพระพุทธรูป โดยไม่คำนึงว่า ผู้ที่รับเงินไปนั้น จะนำเงินไปใช้สร้างสิ่งเหล่านั้นจริงหรือไม่ ขอให้ได้ทำตามประเพณีและสังคม หรือ มีผู้มาชวนให้ร่วมทอดกฐิน ผ้าป่า ก็ร่วมบริจาคทรัพย์ให้คณะนั้น ๆ โดยไม่คำนึงว่า ผู้รับบริจาคนั้นจะนำเงินไปถวายพระหรือไม่ ถ้าถวายพระภิกษุแล้ว ท่านจะนำเอาไปทำอะไร เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ชาวพุทธกลุ่มนี้จะไม่คำนึง ขอเพียง ได้ร่วมประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาก็พอใจแล้ว นี่คือ “ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาตามประเพณี”
ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย จงคิดพิจารณา ไตร่ตรองดูเถิดว่า “การเข้าวัด การอยู่ในวัด และการออกจากวัด ” นั้น เป็นบุญหรือเป็นบาป มีโทษหรือมีประโยชน์ ต่อตัวเราหรือไม่ แค่ไหน เพียงใด