สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน ฟังธรรมเป็นยาฉีด จริงหรือ
สวดมนต์เป็นยาทา หมายความว่า ยาทา เป็นยารักษาโรคที่เจ็บปวดภายนอกเท่านั้น การสวดมนต์เป็นเพียงการกล่าววาจาที่ดี เป็นสิริมงคล ต่อวาจาผู้สวด ถ้าผู้ใดสวดมนต์ได้นาน ๆ ก็จะทำให้ผู้นั้นมีสมาธิ ถ้าเข้าใจว่า บทที่สวดนั้นแปลว่าอะไร ก็จะรู้ว่าบทนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ถ้าสวดแล้วไม่ได้นำบทสวดนั้นมาพิจารณา และปฏิบัติตาม ก็จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้สวดมากนัก เป็นเพียงทำให้จิตเป็นสมาธิเท่านั้น หมายความว่า การสวดมนต์นั้นไม่สามารถที่จะนำไปชำระกิเลสให้เบาบางลงได้เลย เป็นเพียงทำให้เกิดสมาธิเท่านั้น หาใช่ทำให้เกิดปัญญาอันรอบรู้ เพื่อความหลุดพ้น ได้ไม่
บางคนการสวดมนต์ กลับทำให้เกิดโทษด้วยซ้ำไป ถ้าสวดมนต์ได้หลาย ๆ บท จะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนเก่ง รู้มากกว่าผู้อื่น เข้าใจว่าได้บุญมาก สามารถช่วยให้ไปสวรรค์ ไปนิพพานได้ แท้ที่จริงแล้ว บทสวดมนต์ต่างๆ เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า สอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายปฏิบัติตาม เพื่อให้รู้จักตนเองว่า เกิดมาแล้ว เป็นทุกข์ เพราะมีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิต ถ้าจะไปนิพพานจะต้องชำระกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ เพราะฉะนั้นถ้าสวดมนต์อย่างเดียว หาใช่ทำให้ผู้สวดมนต์เข้าสู่นิพพานได้ไม่ ถ้าสวดมนต์แล้วไปประกอบกรรมชั่ว ประพฤติผิดศีล ผิดธรรม แม้แต่สวรรค์ก็ยังไปไม่ได้ เพราะ กรรมชั่วจะพาผู้นั้นลงนรก นี้คือความหมาย ของคำว่า “สวดมนต์เป็นยาทา”
ภาวนาเป็นยากิน การฝึกจิตให้อยู่กับบทภาวนาบทใด บทหนึ่ง เมื่อฝึกสมาธิบ่อย ๆ และนานๆ จะทำให้สติมีพลัง สามารถควบคุมจิตให้อยู่ที่เดียวได้ ทำให้จิตสงบอยู่กับบทภาวนา จิตไม่ฟุ้งซ่านชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
เมื่อออกจากการภาวนาแล้ว จิตก็จะถูกกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ เหมือนเดิม แม้กระทั่งผู้ปฏิบัติภาวนาจนสามารถเข้าฌานได้ คือจิตสงบนิ่ง เป็นอารมณ์เดียว มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่เมื่อจิตออกจากการเข้าฌานแล้ว จิตก็จะถูกกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ เหมือนเดิม
บางคนเข้าใจผิดว่าการภาวนาทุกอิริยาบถ เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน ได้นานหลายวัน หลายคืน คิดว่าตนเป็นผู้วิเศษ เหนือผู้อื่น หลงตนเองว่าเป็นผู้ปฏิบัติได้สูงสุด แท้ที่จริงแล้วการภาวนานาน ๆ ไม่ได้ช่วยให้กิเลสหมดจากจิต เป็นเพียงการสกัดกั้นไม่ให้กิเลสครอบงำจิตชั่วคราวเท่านั้น เปรียบเหมือนผู้ป่วยที่กินยาเพื่อบรรเทาโรคให้หายชั่วคราว เท่านั้น
อันที่จริงผู้ที่ปฏิบัติภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วใช้สติปัญญา พิจารณาคำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เห็นว่า เรามีกิเลส เป็นเครื่องครอบงำจิต จึงหาทางปฏิบัติตามคำสอน เพื่อชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิต
เปรียบเหมือนเราป่วยเป็นโรค แล้วต้องกินยาติดต่อกัน โรคจึงจะหาย การชำระกิเลสให้หมดไป ก็ต้องพิจารณาธรรมให้รู้แจ้งโดยการ วิปัสสนา นี้คือความหมายของคำว่า “ภาวนาเป็นยากิน”
ฟังธรรมเป็นยาฉีด หมายความว่า การฟังธรรมแล้วเกิดปัญญารู้แจ้ง เห็นจริงตามคำสอนในบทนั้น ๆ
การฟังพระธรรมคำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ และผู้รู้แจ้งแตกฉานในธรรม
การฟังธรรมจะให้ได้ผลดี จะต้องมีสติ ควบคุมจิตให้อยู่กับ เสียง ครูบาอาจารย์ ว่าท่านสอนเรื่องอะไร ใช้สติปัญญา พิจารณาคำสอน ในบทนั้น ๆ ให้เข้าใจ แล้วนำมาปฏิบัติตาม เพื่อความรู้แจ้ง เช่นท่านสอนว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ เราควรพิจารณาให้เห็นว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราก็จะมีความกังวลต่อสิ่งนั้น เช่น หญิงรักชาย ชายรักหญิง เพราะทั้งสองมีตัณหา ราคะ ต้องการจะอยู่ร่วมกันฉันท์สามี ภรรยา ก็เกิดการยึดมั่นถือมั่นว่า เธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ มีความผูกพัน เป็นทุกข์ เพราะกลัวว่าจะต้องพลัดพรากจากกัน
บางคนรักสวยรักงาม ก็เป็นทุกข์ เพราะความหลง จึงหาเครื่องประดับประดา มาตกแต่งเพื่อให้สวยงาม ถ้าไม่ได้ดังปรารถนาก็เป็นทุกข์
บางคน รักใคร่พอใจในทรัพย์สมบัติ ก็เป็นทุกข์ เกิดจากความหลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีทรัพย์ แล้วจะประเสริฐกว่าผู้อื่น เกิดความหวงแหนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นทุกข์เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป
บางคนรักลูก รักหลานก็เป็นทุกข์ เพราะความยึดมั่นในตัวตน เรา เขา ลูกฉัน หลานฉัน จะพลัดพรากจากกันไม่ได้ ถ้าลูกหลานตายจากก็จะเกิดทุกข์มาก
บางคนรักตัวเองก็เป็นทุกข์ เพราะกลัวว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวแก่ กลัวตาย เหล่านี้เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ในเมื่อฟังแล้วเข้าใจในคำสอน นำมาพิจารณาตาม เห็นว่าทุกข์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับเราจริง นำมาปฏิบัติ คือ ค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ เลิก ความรักที่มีอยู่ ซึ่งเป็นความ ยึดมั่นถือมั่น ในตัวตนเราเขา เพื่อคลายทุกข์ลง และหมดทุกข์ไปในที่สุด
การเป็นโรค ต่าง ๆ ต้องได้รับการรักษาด้วยการทา การกิน การฉีดยา แล้วหายจากโรคฉันใด เปรียบเหมือนการสวดมนต์ การภาวนา การฟังธรรม เพื่อให้เกิดสติปัญญา มาชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ฉันนั้น
บรรณานุกรม
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖