พระราชดำรัส คุณธรรม ๔ ประการ
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๙.๑๙ น. นาย
๑. เมตตาธรรม
๒. สามัคคีธรรม
๓. สุจริตธรรม
๔. เที่ยงธรรม
๑. เมตตาธรรม
๑. เมตตาธรรม เมตตาแปลว่า ความรัก มีอยู่ ๒ ประการด้วยกัน
๑) ความรักที่ไม่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เจือปน
๒) ความรักที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เจือปน
(๑) ความรักที่ไม่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เจือปน หมายถึง
ความรัก ของผู้ที่ไม่มีกิเลส ครอบงำจิตใจ เป็นความรักอันบริสุทธิ์ กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความรักความห่วงใยเสมอกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ลำเอียง มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ให้มีความสุข แม้จะเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใด จะต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียเวลามากมาย แม้แต่เสียชีวิตก็ยอม เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ รักทุกชีวิต ทุกวิญญาณ ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขถ้วนหน้ากัน ตัวอย่างเช่น เรามีน้ำหวานอยู่หนึ่งแก้ว เมื่อเราได้ดื่มแล้วรู้สึกชื่นใจ มีความสุข มีความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุขเช่นเดียวกับเรา นับตั้งแต่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ ลูกหลาน บริวาร ทุกคนในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด ในประเทศ หรือทุกคนในโลกนี้ รวมทั้งสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และทุกชีวิต ทุกวิญญาณในโลกนี้ ถ้าหากได้ดื่มน้ำหวานแก้วนี้ คงจะมีความสุขเช่นเดียวกับเรา นี้คือ ผู้ที่มีเมตตา คือความรัก เป็นคุณธรรมประจำใจของผู้ที่ไม่มีกิเลสครอบงำจิตใจ หรือกิเลสเบาบางลงบ้างแล้ว มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ผู้ใดมีคุณธรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มี เมตตาธรรม เป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพรหม เป็นอริยชน เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ ตามลำดับ เพราะมีเมตตาธรรมประจำใจ
(๒) ความรักที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เจือปน หมายถึงความรัก
ของผู้ที่มีกิเลสครอบงำจิตใจ เช่น พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ พี่รักน้องน้องรักพี่ หนุ่มสาวรักกัน รักวงศาคณาญาติ รักพวกพ้อง ลูกน้องบริวาร เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ ที่มีความรักต่อกันอยู่แล้วตั้งแต่เกิดมา ความรักเหล่านี้เป็นความรักของมนุษย์ปุถุชน ซึ่งมีความเห็นแก่ตัว มีความลำเอียง เป็นความรักที่มีขอบเขต คือ ปรารถนาที่จะให้คนที่ตนรักมีความสุขเท่านั้น เราจะเห็นได้จากมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน และตัวของเราเอง เช่นเรามีน้ำหวานอยู่หนึ่งแก้ว เราได้ดื่มแล้วรู้สึกชื่นใจมีความสุข เรามีความปรารถนาอยากให้พ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ที่เรารักเท่านั้น ได้ดื่มน้ำหวานแก้วนี้ คงจะมีความสุขเช่นเดียวกับเรา ไม่ได้คิดถึงผู้อื่นที่ห่างไกล ไม่คิดถึงทุกชีวิตทุกวิญญาณ ที่เกิดมาร่วมกันในโลกนี้ ไม่มี เมตตา คือไม่มีความรักอันบริสุทธิ์ และกว้างขวาง ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน ที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ จึงเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่ญาติพี่น้อง พวกพ้องบริวาร เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่มีเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ประจำใจ
บทกลอน พรหมวิหาร ๔
อันเมตตา คือความรัก จักเผื่อแผ่
จะมากแท้ ก็ต่อเมื่อ เผื่อมากหลาย
ทั้งพ่อแม่ เพื่อนพ้อง น้องหญิงชาย
สัตว์ทั้งหลาย ในโลก จงโชคดี
กรุณา คือสงสาร วานช่วยบอก
ใครช้ำชอก เป็นทุกข์ ไม่สุขี
จงช่วยเขา ให้พ้นทุกข์ เป็นสุขดี
แม้สัตว์ที่ เจ็บป่วย จงช่วยกัน
มุทิตา พลอยยินดี ผู้มีโชค
อย่าเศร้าโศก เสียใจ ภัยมหันต์
จงทำใจ ให้ดี มีต่อกัน
พระองค์ท่าน สอนไว้ ให้ยินดี
อุเบกขา คือวางเฉย เคยหรือไม่
คือทำใจ ให้เป็นกลาง สว่างศรี
ไม่ดีใจ หรือเสียใจ เมื่อภัยมี
จะเกิดที่ สัตว์เหล่าใด ใครก็ตาม
ขอทุกท่าน จงคิด พินิจดู
หากไม่รู้ แม้นชอบ ให้สอบถาม
คุณธรรม ทั้งสี่ นี้ช่างงาม
มีประจำ ก็เป็นพรหม สมดังใจ
๒. สามัคคีธรรม
๒. สามัคคีธรรม หมายถึง มีความเห็นตรงกัน เห็นถูกต้องตามกฎหมาย เห็นถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ตามจารีตประเพณี และวัฒนธรรม
ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ ในครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด สังคม สถาบันองค์กรต่าง ๆ ประเทศ และในโลก ผู้ที่อยู่ร่วมกันจะมีความสามัคคีได้ ต้องมีคุณธรรม ดังต่อไปนี้
๑) เมตตา คือ มีความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๒) สัมมาทิฎฐิ คือ มีความเห็นชอบ ถูกต้อง ตรงกัน
๓) ความเป็นธรรม คือ การวางตัว วางใจเป็นกลาง
(๑) เมตตา คือความรัก หมายถึงความรักอันบริสุทธิ์ ใจ มีความปรารถนาดี
ต่อทุก ๆ คน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีความลำเอียง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่เอื้ออาทรต่อกัน มีความเสียสละอย่างสูงเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นผู้ให้ด้วยใจอันบริสุทธิ์ รักเคารพนับถือทุกคนที่อยู่ร่วมกัน เหมือนพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เมื่อทุกคนรักกันก็จะเกิดพลังแห่งความสามัคคีขึ้น จะคิด จะพูด จะทำกิจการใด ๆ ด้วยพลังแห่งความสามัคคี ก็จะทำให้กิจการนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะทุกคนมีเมตตา คือความรักอันบริสุทธิ์ต่อกัน
(๒) สัมมาทิฏฐิ หมายความว่า มีความคิดเห็นตรงกัน คือเห็นถูกต้องตาม
ครรลองคลองธรรม ถูกกฎหมาย ถูกจารีตประเพณี และวัฒนธรรม ถ้าทุกคนในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด ในสถาบันองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ และในโลก ผู้ที่อยู่ร่วมกันมีความคิดเห็นตรงกัน ก็จะเกิดพลังแห่งความสามัคคีขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุกคนในประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่า เราต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าชีวิต เมื่อมีใครมาคิดร้าย ทำลาย สถาบันทั้ง ๓ สถาบัน ของเรานี้ ทุกคนในประเทศมีความเห็นตรงกันว่า เราต้องปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้ ด้วยพลังแห่งความสามัคคี จึงร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ และต่อต้าน ไม่ให้ใครมาทำร้าย ทำลาย ทั้ง ๓ สถาบันของเราได้ เพราะมีความสามัคคีธรรม
แต่ถ้าคนในประเทศไทยมีความเห็นไม่ตรงกัน เกิดความแตกแยก ไม่มีความสามัคคี อิจฉาริษยา เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จึงทำให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกิดความเดือดร้อน ประชาชนทั้งประเทศจะไม่มีความสงบสุข เพราะขาดสามัคคีธรรม
(๓) ความเป็นธรรม หมายถึง มีใจเป็นกลาง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ก็พร้อมที่จะปรับตัว ปรับใจ ด้วยความเป็นธรรม ทุกคนมีสิทธิจะคิด จะพูด จะทำ สิ่งใด ๆ ก็ได้ ที่ถูกครรลองคลองธรรม มีใจเป็นกลาง จะมีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี ด้วยเหตุ ด้วยผลที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตน และส่วนรวม จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และสมานฉันท์
ทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทั้ง ๓ อย่างนี้
เป็นคุณธรรมประจำใจ
- มีเมตตา คือ ความรัก ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- มีสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบตรงกัน
- มีความเป็นธรรม คือการวางตัว วางใจเป็นกลาง
เป็นคุณธรรมที่ส่งเสริมให้ ผู้ที่อยู่ร่วมกัน มีความสามัคคี ในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในตำบล ในจังหวัด ในสถาบัน องค์กรต่าง ๆ ในประเทศและในโลก จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะมีสามัคคีธรรมประจำใจ
บทกลอน สามัคคีธรรม
สามัคคี เกิดขึ้นได้ ใจเป็นธรรม
ต้องน้อมนำ เอาเมตตา มาส่งเสริม
มีความรัก ความปราณี เข้าเพิ่มเติม
ช่วยส่งเสริม ให้จิต คิดเมตตา
คอยช่วยเหลือ เอื้ออาทร ผ่อนหนักเบา
ช่วยเหลือเขา เฝ้าดูแล แก้ปัญหา
ปรารถนาดี ต่อทุกคน ด้วยเมตตา
เฝ้าภาวนา ให้ทุกคน พ้นทุกข์ไป
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความคิดเห็น
แม้ลำเค็ญ ก็อย่าคิด ผิดกฎหมาย
คิดให้ถูก ทำให้ถูก ทั้งใจกาย
ตั้งใจไว้ ให้ถูกต้อง ครรลองธรรม
วัฒนธรรม จารีต ประเพณี
สิ่งที่ดี ควรรักษา และสร้างสรรค์
สามัคคี ในสังคม ชื่นชมกัน
ความสุขสันต์ เกิดขึ้นจริง ทั้งหญิงชาย
ความเป็นธรรม หมายถึง ใจเป็นกลาง
ยอมรับฟัง ความคิดเห็น ผู้อื่นได้
แม้มีความ แตกต่าง บางอย่างไป
ก็เข้าใจ ทุกประเด็น ด้วยเป็นธรรม
ขอทุกท่าน จงมี ไมตรีเถิด
จะได้เกิด ผลบุญ อุปถัมภ์
จะอยู่ดี มีสุข ก็เพราะกรรม
ทุกคนทำ แต่กรรมดี มีสุขเอย
๓. สุจริตธรรม
๓. สุจริตธรรม หมายถึง มีกาย วาจา ใจ ที่สุจริต เป็นคุณธรรมของคนดี มี ๓ อย่าง ดังนี้
๑). ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า “กายสุจริต”
(๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์
(๒) เว้นจากการลักทรัพย์
(๓) เว้นจาการประพฤติผิดในกาม
๒). ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า “วจีสุจริต”
(๑) เว้นจากการพูดเท็จ
(๒) เว้นจากการพูดส่อเสียด
(๓) เว้นจากการพูดคำหยาบ
(๔) เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๓). ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกว่า “มโนสุจริต”
(๑) ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
(๒) ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
(๓) ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม
เป็นคุณธรรมที่เรียกว่ากายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ผู้ที่จะมีสุจริตธรรมได้ ต้องมีศีล ๕ ธรรม ๕ ประจำกาย วาจา ใจ
๑) ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต มี ๓ อย่าง ดังนี้
(๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์
(๒) เว้นจากการลักทรัพย์
(๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ศีลข้อที่ ๑ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการทรมานสัตว์ งดเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ หมายถึงตั้งใจไม่ทำความชั่วทางกาย ต้องมีคุณธรรมประจำใจ คือ เมตตา กรุณา มีความรัก ความสงสาร สัตว์ทั้งหลาย เมื่อไม่ฆ่าสัตว์แล้วยังต้องช่วยเหลือชีวิตสัตว์ ที่เจ็บป่วยให้พ้นจากความทุกข์ ทรมาน เพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาวต่อไป ไม่เบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบัญญัติศีล และธรรม ข้อที่ ๑ ไว้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน นำมารักษา กาย วาจา ใจ ยับยั้งไม่ให้ประพฤติชั่ว ทางกาย วาจา ใจ เพื่อให้กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์นี้คือผู้ที่มีศีล มีธรรมข้อที่ ๑ ประจำกาย วาจา ใจ
ธรรมที่ประกอบศีลข้อที่ ๒ นี้ คือ การประกอบอาชีพสุจริต หมายความว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริตต่อหน้าที่การงาน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ไม่แสวงหาผลประโยชน์
อันไม่ชอบธรรม จากหน้าที่การงานทุกประการ ไม่ทุจริตคดโกง ไม่คอรัปชั่นงบประมาณแผ่นดิน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ
นอกจากนั้นยังต้องประพฤติดีด้วยการให้ทาน นำทรัพย์สินเงินทองของตนเอง มาบริจาคแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ให้บรรเทาเบาบาง ความทุกข์ลง หรือบริจาคให้กับผู้ที่ควรให้ หรือนำไปสร้างสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ นี้คือผู้ที่มีศีล มีธรรมข้อที่ ๒ ประจำ กาย วาจา ใจ
ศีลข้อที่ ๓ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึงตั้งใจไม่นำกายไปประพฤติผิด เป็นชู้สู่สมกับสามีภรรยาผู้อื่นหรือ หญิงชายต้องห้าม ต้องมีคุณธรรมประจำใจ คือ มีความสำรวมในกาม พอใจในคู่ครอง ในสามี ภรรยาของตน มีความซื่อสัตย์ไม่นอกใจ สามีหรือ ภรรยา ของตน ไม่ยุยงส่งเสริมให้สามีหรือภรรยาผู้อื่นให้แตกแยกกัน ไม่บังคับขู่เข็ญเป็นธุระจัดหาหญิงหรือเป็นนายหน้าค้าประเวณี นอกจากนั้นยังต้องส่งเสริมให้สามี ภรรยา รักใคร่ปรองดอง อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น และมีความสุข
เมื่อเราไม่ประพฤติชั่วไม่เป็นชู้สู่สมกับสามีภรรยาผู้อื่นแล้วจะต้องทำสิ่งตรงกันข้าม คือพยายามทำให้ภรรยาสามีคู่อื่น ไม่แตกแยกกัน ช่วยเหลือให้เขามีความรักใคร่ปรองดองกัน เป็นการ ละชั่วแล้วประพฤติดี นี้คือผู้ที่มีศีล มีธรรม ข้อที่ ๓ ประจำกาย วาจา ใจ
การที่เราไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้วาจาเล้าโลมผู้ใดแต่ใจคิดอยากที่จะได้สามีภรรยาผู้อื่นมาเสพสม ถือว่าไม่ผิดศีล แต่ผิดธรรมที่ไม่สำรวมในกาม ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงบัญญัติศีล และธรรมข้อที่ ๓ นี้ ไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ทั้งกาย วาจา และใจ สะอาด
ผู้ใดมีคุณธรรม ทั้ง ๓ ข้อนี้ ถือว่า ผู้นั้นมี “กายสุจริต”
๒). ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต มี ๔ อย่าง ดังนี้
(๑) เว้นจากการพูดเท็จ
(๒) เว้นจากการพูดส่อเสียด
(๓). เว้นจากการพูดคำหยาบ
(๔). เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ศีลข้อที่ ๔ งดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
(๑). เว้นจากการพูดเท็จ หมายถึงเว้นจากการพูดโกหก หลอกลวง เช่น
พูดหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทองทั้งของหลวงและของผู้อื่นมาเป็นของตน แต่ควรพูดแนะนำให้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นทาน ให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน หรือผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ แนะนำให้มีความสามัคคี รักใคร่ปรองดองกัน พูดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง
(๒). เว้นจากการพูดส่อเสียด หมายถึง ไม่พูดเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี เปรียบเปรย กระทบกระเทียบเหน็บแนม ทำให้ผู้อื่นเสียใจ หรือเสียชื่อเสียง หรือพูดยุยงส่งเสริมทำให้ผู้อื่นทะเลาะกัน เกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคีในหมู่คณะ ควรใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน ไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ฟัง ให้เกียรติและช่วยกันรักษาชื่อเสียงของหมู่คณะ จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
(๓). เว้นจากการพูดคำหยาบ หมายถึง ใช้วาจาที่สุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน พูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ ไม่พูดหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยาม ให้เจ็บช้ำน้ำใจ ไม่พูดเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉานหรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเสียใจ ขุ่นเคือง โกรธแค้น อาฆาต พยาบาทปองร้าย เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เพราะการพูดคำหยาบ
(๔). เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ หมายถึงไม่พูดเรื่องไร้สาระ ไม่พูดพล่อย ๆ รู้จักกาลเทศะ ว่าควรพูดในสถานที่ใด เวลาใด ไม่พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่พูดทำร้าย ทำลายผู้อื่นให้เสื่อมเสีย ไม่พูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกัน พูดแต่เรื่องดีมีประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง
การประพฤติชอบทางวาจา เว้นจากการ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ผู้ใด
มีคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ถือว่าผู้นั้นมี “วจีสุจริต”
๓). ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต มี ๓ อย่าง ดังนี้
(๑). ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน หมายถึงมีความสันโดษ (มักน้อย) เป็นคุณธรรมประจำใจ คือ พอใจในสิ่งที่มี ที่ได้ ที่เป็น ไม่อยากได้ของผู้อื่น เพราะรู้ว่าความโลภ เป็นกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กลับคิดชำระกิเลส ความโลภให้ลดลง โดยการให้ทานแบ่งปันทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ ปัจจัยสี่ ให้กับผู้ที่ยากจน ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส หรือบริจาคสร้างสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ เพื่อให้พ้นจากความตระหนี่ ความลุ่มหลงมัวเมาในทรัพย์สมบัติ
(๒). ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น หมายถึง ผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีเมตตา
คือความรัก มีกรุณา คือความสงสาร ต่อผู้อื่น ให้อภัยต่อการผิดพลาด ไม่โกรธแค้น ไม่อาฆาตพยาบาทปองร้าย ไม่จองเวร กลับคิดหาหนทางช่วยเหลือ ให้เขากลับตัวกลับใจเป็นคนดี เท่าที่สามารถจะช่วยได้
(๓). ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม หมายถึง ไม่ลังเลสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า มีจริง เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตใจเศร้าหมอง และเห็นว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า สามารถชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจได้
ประพฤติชอบทางใจ ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม ทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่ามี “มโนสุจริต”
ผู้ใดมี กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นคุณธรรมประจำ กาย วาจา ใจ แล้ว ถือว่า เป็นผู้มี “สุจริตธรรม”
บทกลอน ศีล ๕
อันว่าศีล นั้นหรือคือ ข้อห้าม
เว้นจากความ ชั่วช้า น่าบัดสี
ใครเว้นได้ ในโลก ก็โชคดี
จะสุขี แน่นอน แม้ก่อนตาย
ข้อที่หนึ่ง ท่านวาง ทางไว้ชัด
ห้ามฆ่าสัตว์ เพราะมันบาป ทราบบ้างไหม
ฆ่าสัตว์แล้ว ชีวิตนั้น ต้องสั้นไป
ท่านสอนไว้ ให้งดเว้น เห็นไม่ดี
อีกทั้งห้าม เบียดเบียน สัตว์ทั้งหลาย
ที่สบาย ให้เป็นทุกข์ ไม่สุขี
ทั้งเบียดเบียน ทรัพย์สมบัติ นั้นไม่ดี
พระองค์ชี้ ทางไว้ ให้ทุกคน
อีกทั้งห้าม ทรมาน สัตว์ทั้งหลาย
เจ็บปวดกาย ให้เป็นทุกข์ ไม่สุขสม
ทั้งกักขัง หน่วงเหนี่ยว ให้ระทม
จะตรอมตรม เป็นทุกข์ คลายสุขลง
ข้อที่สอง ท่านห้าม ทางลักทรัพย์
ห้ามไปจับ สิ่งของ ต้องประสงค์
ของผู้อื่น แล้วถูกจับ จะดับลง
ตำรวจคง พาเจ้า เข้าซังเต
ข้อที่สาม ห้ามเป็นชู้ แล้วสู่สม
ไม่นิยม เปลี่ยนคู่ ดูหันเห
ใครชอบเปลี่ยน ก็จงรู้ คนเสเพล
คาดคะเน ได้ว่า คนบ้ากาม
ข้อที่สี่ ห้ามพูดปด งดคำชั่ว
เห็นแก่ตัว พูดนักเลง น่าเกรงขาม
ทั้งพูดปด หลอกลวง ดูไม่งาม
วาจาทราม พาเป็นทุกข์ สุขไม่มี
ท่านห้ามพูด เพ้อเจ้อ และส่อเสียด
คนเขาเกลียด กันทั่ว ตัวหมองศรี
ไม่มีคน คบค้า ว่าไม่ดี
ความชั่วมี ทางวาจา ช่างน่าอาย
ข้อที่ห้า ห้ามดื่มสุรา และเมรัย
ท่านว่าไว้ เป็นคนชั่ว มั่วเหลือหลาย
กินเหล้าแล้ว ทำความชั่ว ได้มากมาย
มันน่าอาย ยิ่งนัก หนักแผ่นดิน
กินเมามา เข้าไปหา ลูกเมียเขา
ช่างน่าอาย อดสู ดูไม่เบา
ลูกเมียเขา ก็ไม่เว้น เห็นน่าชัง
บ้างกินเมา แล้วพาล สันดานเสีย
ตีลูกเมีย เสียจน ตนถูกขัง
หายเมาแล้ว ก็อับอาย ขายหน้าจัง
ลูกเมียชัง คนชั่ว ตัวอัปรีย์
บ้างเมาแล้ว พูดมาก ลำบากหู
คนที่อยู่ ใกล้เคียง ก็อยากหนี
ทั้งหญิงชาย กินเหล้า ไม่เข้าที
ทั้งชีวี วอดวาย ต้องตายลง
ขอทุกท่าน จงคิด พินิจดู
เมื่อตัวรู้ ว่าผิด อย่าไหลหลง
จงละชั่ว ประพฤติดี ให้มั่นคง
ชีวิตคง สุขสมจริง ทั้งหญิงชาย
รักษาศีล แล้วจะได้ อะไรหนอ
ข้าจะขอ บอกท่าน ที่มั่นหมาย
ในชาตินี้ จะสะอาด วาจากาย
ชาติหน้าไซร้ จะมีรูป ที่สวยงาม
บทกลอน ธรรม ๕ ประการ
เมื่อมีศีล ต้องมีธรรม ประจำใจ
ท่านสอนไว้ มีเมตตา สัตว์ทั้งหลาย
ชีวิตเขา ชีวิตเรา ต้องเข้าใจ
อย่าทำลาย ให้เขาดับ รับโทษทัณฑ์
เราควรจะ เลี้ยงชีพ ให้สุขสันต์
มีอาชีพ ที่ชอบ ประกอบกัน
เลี้ยงชีวัน ให้รอด จะปลอดภัย
ข้อที่สาม ควรสำรวม ในกามไว้
จงพอใจ ในคู่ครอง ตรองให้ได้
แม้นผิดคู่ สู่สม จะเสียใจ
ท่านว่าไว้ เป็นทุกข์ สุขไม่มี
ข้อที่สี่ ก็มีธรรม ประจำนะ
คือสัจจะ ความจริง ทุกสิ่งศรี
พูดไปแล้ว ก็ต้องจำ ทำให้ดี
ต้องพูดที่ มีความจริง ยิ่งเจริญ
ข้อที่ห้า ก็มีธรรม ประจำซิ
มีสติ อันรอบคอบ ไม่ขาดเขิน
ทำอะไร อย่าให้พลาด หรือขาดเกิน
อย่าหลงเพลิน มัวเมา จะเศร้าใจ
ขอทุกท่าน จงคิด พิจารณา
ว่าตัวข้า มีธรรม อยู่บ้างไหม
อันว่าศีล นั้นห้าม วาจากาย
ธรรมนั้นไซร้ ห้ามถึงจิต พินิจดู
๔. เที่ยงธรรม
เที่ยงธรรม หมายถึง ตั้งตรงกลางไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ผู้ที่จะมีความเที่ยงธรรมได้ต้องมีคุณธรรมประจำใจ คือ ไม่มีอคติ ๔ มีดังนี้
๑. ไม่ลำเอียงเพราะรักใคร่
๒. ไม่ลำเอียงเพราะเกลียด
๓. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๔. ไม่ลำเอียงเพราะโง่เขลาเบาปัญญา
๑) ไม่ลำเอียงเพราะรักใคร่ หมายถึง คนที่เรารักทำความผิดเราก็ต้องตัดสินว่าผิด คนที่เรารักทำถูกเราก็ตัดสินว่าถูก เพราะมีความเที่ยงธรรม เป็นคุณธรรมประจำใจ
๒) ไม่ลำเอียงเพราะเกลียด หมายถึงคนที่เราเกลียดทำถูก เราต้องตัดสินว่าถูก คนที่เราเกลียดทำผิดเราก็ต้องตัดสินว่าผิด เพราะมีความเที่ยงธรรมเป็นคุณธรรมประจำใจ
๓) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจทำผิด เราก็ต้องตัดสินว่าผิด ผู้ที่มีอำนาจมีอิทธิพลทำถูกเราก็ต้องตัดสินว่าถูก เพราะมีความเที่ยงธรรมเป็นคุณธรรมประจำใจ ไม่กลัวอำนาจอิทธิพลใดๆ
๔) ไม่ลำเอียงเพราะโง่เขลาเบาปัญญา หมายถึง ผู้ใดที่กระทำความผิด เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ ไม่หูเบาเชื่อคนง่าย ไม่ตัดสินคดีความด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ต้องมีความเป็นธรรม เป็นกลาง และซื่อสัตย์ต่อตนเองและหน้าที่ของตน เพราะมีความเที่ยงธรรม เป็นคุณธรรมประจำใจ
ส่วนผู้ที่มีอคติ คือมีความลำเอียงหรือเอนเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเป็นกลาง มีดังนี้
๑. ลำเอียงเพราะรัก หมายถึงคนที่ตนรักทำผิดก็ตัดสินว่าถูก
๒. ลำเอียงเพราะเกลียด หมายถึง คนที่ตนเกลียด ทำถูกก็ตัดสินว่าผิด
๓. ลำเอียงเพราะกลัว หมายถึงผู้ที่มีอำนาจมีอิทธิพลทำความผิดก็ตัดสินว่าถูก
๔.ล ำเอียงเพราะโง่เขลาเบาปัญญา หมายถึงจะตัดสินปัญหาใดๆก็ผิด เพราะเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย ไม่มีสติปัญญา ไม่มีคุณธรรม ตัดสินปัญหาต่างๆด้วยอารมณ์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพหน้าที่การงาน ไม่มีความจริงใจต่อตนเอง และผู้อื่น ทำให้สังคมเสื่อมโทรม ไม่ควรเคารพนับถือ ไม่ควรคบค้าสมาคม นี่คือผู้ที่ขาดคุณธรรมประจำใจ
ผู้ที่มีคุณธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ ไม่มีอคติ ๔ เป็นผู้มีคุณธรรมประจำใจ นี้เรียกว่า เป็นผู้มี ”ความเที่ยงธรรม”
บทกลอน เที่ยงธรรม
ความซื่อสัตย์ จะต้องถือ คือสัจจะ
จำต้องละ พูดปด งดพูดชั่ว
ต้องพูดจริง ทำจริง ไม่เมามัว
ไม่คิดชั่ว ไม่ทำชั่ว ไม่กลัวใคร
ความเป็นธรรม หมายถึง ใจเป็นกลาง
ไม่เข้าข้าง ออกข้าง ทางฝ่ายไหน
ต้องส่งเสริม ผู้ทำดี มีต่อไป
จงใส่ใจ เร่งกระทำ แต่ความดี
ไม่อคติ หมายถึง ไม่ลำเอียง
ไม่ลำเอียง เพราะรัก ในศักดิ์ศรี
ไม่ลำเอียง เพราะเกลียด นั้นไม่ดี
รักศักดิ์ศรี ของตน เป็นคนกลาง
ไม่ลำเอียง เพราะกลัว อิทธิพล
มีเหตุผล ความถูกผิด คิดสะสาง
จะตัดสิน ความข้อใด ใจเป็นกลาง
ไม่ละวาง ความซื่อสัตย์ มัดใจคน
ไม่ลำเอียง เพราะโง่เขลา เบาปัญญา
พิจารณา ให้รอบคอบ ด้วยเหตุผล
ไม่หูเบา เชื่อคนง่าย ทำลายตน
ไม่มืดมน มีปัญญา พาสุขใจ
ขอทุกท่าน จงคิด พิจารณา
ว่าตัวข้า มีคุณธรรม นี้หรือไม่
ถ้ามีแล้ว จงส่งเสริม กันต่อไป
ไม่มีไซร้ แสวงหา มาใส่ตน
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖