อันตรายของภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง
๑.อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อหน่ายต่อคำสั่งสอน ขี้เกียจทำตาม
๒.เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓.เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้ความสุข ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๔.รักผู้หญิง
ภิกษุสามเณร ผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ทั้ง ๔ อย่าง ย่ำยีได้
๑.ภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ต้องเป็นผู้มีความอดทน ไม่เบื่อหน่ายต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ ปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่น บิณฑบาตตอนเช้า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทำความสะอาดบริเวณวัด ซึ่งเป็นกิจของภิกษุ สามเณร ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน และยังต้องปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ เช่น ระวังกาย วาจา ใจ ไม่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้กาย
วาจา ใจ ของพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่มีความสะอาดบริสุทธิ์ และยังต้องศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศ ที่พระภิกษุ สามเณรผู้บวชใหม่ จะต้องปฏิบัติให้คุณธรรมเกิดขึ้นกับตนเอง พยายามหมั่นสำรวจกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่ามีมากน้อยเพียงใด แล้วนำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ละบทที่สมควร แก่ตน มาชำระกิเลสให้ลดลง และหมดสิ้นไป ถึงแม้จะมีอุปสรรคใด ๆก็ตาม ก็จะต้องอดทนต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ความเกียจคร้าน ต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์
ถ้าพระภิกษุ สามเณรใด ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่นไม่ออกบิณฑบาต ไม่ทำวัตรเช้า ไม่ทำวัตรเย็น ไม่ทำความสะอาดบริเวณวัด ไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่หาทางชำระกิเลสปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จะหาความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนเองไม่ได้เลย
๒.ภิกษุ สามเณร ที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง (เห็นแก่กิน) ทนความอดอยากไม่ได้ เช่นไปบิณฑบาตได้อาหารที่ถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้าง ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง ก็ต้องมีความอดทน มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า การฉันอาหารนั้น ฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ให้มีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ฉันเพราะความหลงในรสชาติของอาหาร ฉันเพื่อความสนุกสนาน ฉันเพื่อความสวยงาม ฉันเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ดังคำกล่าวที่ว่า “กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” ไม่ได้ฉันเพื่อเห็นแก่ปากแก่ท้อง ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ภิกษุ สามเณรใดเป็นผู้เห็นแก่ปาก แก่ท้อง (เห็นแก่กิน) อาหารที่บิณฑบาตมาได้ ถ้าไม่ถูกปาก ถูกใจก็ไม่ฉัน ต้องเดือดร้อนญาติโยมไปจัดทำอาหาร หรือซื้อมาให้ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงญาติโยมที่มีใจอันบริสุทธิ์ นำอาหารมาใส่บาตร เพื่อหวังจะได้บุญ กุศล อานิสงส์กับตนเอง และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเมื่อพระภิกษุ สามเณรรับบิณฑบาตแล้ว ไม่ฉันเพราะไม่ชอบอาหารนั้น แล้วผู้ที่ใส่บาตรมาจะได้อะไรจากพระภิกษุ สามเณรเหล่านั้น ภิกษุสามเณรเหล่านั้นขาดสติ ขาดปัญญาพิจารณาว่า การฉันอาหารนั้นฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ ให้มีชีวิตอยู่ เพื่อประกอบกรรมดีต่าง ๆ จะฉันมากฉันน้อย อาหารจะดีหรือไม่ดี ก็เกิดความแก่ ความเจ็บ ความตายในที่สุด ฉะนั้นภิกษุ สามเณรที่เห็นแก่ปาก แก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็จะไม่ความเจริญก้าวหน้า
๓.ภิกษุ สามเณร ถ้ายังเพลิดเพลินระเริงหลงอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นเหตุให้เกิดความทะยานอยาก ไม่รู้จักจบสิ้น เห็นแล้วอยากเห็นอีก ได้ยินแล้วอยากได้ยินอีก ได้กลิ่นหอมแล้วก็อยากได้กลิ่นหอมนั้นอีก ได้กินอาหารที่มีรสอร่อยแล้วก็อยากได้กินอีก สัมผัสใดที่พอใจแล้วก็อยากสัมผัสอีก เกิดความทุกข์ กระวนกระวายใจ กระสับกระส่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และยังมีความหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการเล่าเรียน หรือปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลส กลับปล่อยให้กิเลสเจริญงอกงาม พระภิกษุ สามเณรบางรูปก็ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ชิงดีชิงเด่น แย่งกันเป็นใหญ่ จึงไม่ประสบความสำเร็จในการบวช แม้แต่พระภิกษุ สามเณรที่บวชมานานหลายพรรษาแล้วก็ตาม ก็ยังมีอันตรายเหมือนพระบวชใหม่ ที่ลุ่มหลงมัวเมา ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดังที่เราได้เห็นภิกษุ สามเณรมีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้
ภิกษุ สามเณรใด ที่ไม่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และไม่ลุ่มหลงมัวเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งตัวเรา เมื่อมีสติปัญญาเห็นดังนี้แล้ว ก็ตั้งใจมั่น ประพฤติปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในการปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้ กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่ว ภิกษุ สามเณรเหล่านั้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญแก่ตน และประสบความสำเร็จในการบวช
๔.ภิกษุ สามเณรใด ยังมีความรักความใคร่กับผู้หญิงมาเกี่ยวข้องแล้ว จิตใจจะเศร้าหมอง ขุ่นมัว กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ต้องการที่จะอยู่ใกล้กับคนที่ตนรัก อยากพูดอยากสัมผัส ลุ่มหลงอยู่ในลาภ อยากได้ทรัพย์สมบัติมาก ๆ มาให้หญิงที่ตนรัก อยากมียศถาบรรดาศักดิ์สูง ๆ เพื่อให้หญิงคนรักภูมิใจในตนเอง เป็นเหตุให้ไม่สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นภิกษุ สามเณรที่ขาดศีล ขาดธรรม บางรูปนำหญิงมาเสพกามในวัดก็มี เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเสื่อมศรัทธา เพราะเหตุที่ภิกษุ สามเณรมีความรักใคร่ในผู้หญิง ศึกษาหรือปฏิบัติธรรมก็ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะจิตใจมีแต่ตัณหาราคะ นำความเดือดร้อนมาให้ตนเอง ผู้อื่น และพุทธศาสนา แม้แต่พระภิกษุ สามเณร ที่บวชนานหลายพรรษาแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ซึ่งเราพบเห็นมากมายที่เกิดขึ้นกับสังคมพระภิกษุ สามเณรในปัจจุบัน
ภิกษุ สามเณรใด ที่หวังความเจริญก้าวหน้าในการบวช มีสติปัญญาพิจารณาพระธรรม คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อหนึ่งที่ว่า “สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์” มีคุณธรรม คือมีหิริ โอตตัปปะ มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว นำศีลและธรรมมารักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ลุ่มหลงมัวเมารักใคร่ในหญิงใด เพราะรู้ว่าเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ แม้บางครั้งจะมีความพอใจในหญิงใดอยู่บ้าง ด้วยการที่ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว จึงมีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า ในกายหญิงนั้นมีเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน และยังเห็นต่อไปอีกว่า หญิงที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น แท้ที่จริงแล้วในร่างกายหญิงมีแต่สิ่งที่น่ารังเกียจ อีกไม่นานก็จะแก่ เหี่ยวย่น และตายเน่าเหม็นเป็นซากศพในที่สุด ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการบวช
ภิกษุ สามเณรใด ผู้หวังความเจริญแก่ตนควรระวังอันตราย ๔ อย่างนี้ คือ
๑.อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อหน่ายคำสอน ขี้เกียจทำตาม
๒.เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓.เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้ความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๔.รักใคร่ในผู้หญิง
ภิกษุ สามเณรใด ที่หลีกเลี่ยงอันตรายของภิกษุ สามเณรผู้บวชใหม่ได้ทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ประสบความสำเร็จในการบวช แม้แต่ภิกษุ สามเณรที่บวชนานหลายพรรษาแล้ว ก็ควรระวังภัยอันตรายทั้ง ๔ อย่างนี้เช่นกัน...
ความคิดเห็น