มูลเหตุของความฉลาด
กุศลมูล ๓ คือ ความฉลาด ไม่เป็นทาสของกิเลส ๓ อย่าง ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
๑. อโลภะ หมายถึง ไม่อยากได้
๒. อโทสะ หมายถึง ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น
๓. อโมหะ หมายถึง ไม่หลง
๑. อโลภะ หมายถึง ความไม่โลภ ไม่อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ในทางทุจริต ผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี เช่น ไม่คดโกงงบประมาณแผ่นดิน ไม่จี้ปล้น ไม่ลักขโมย เป็นต้น มีสติปัญญาดีไม่ทำความชั่ว เพราะเกรงว่าจะเกิดความเดือดร้อนกับตนเองและผู้อื่น กลัวว่าตนเองจะเป็นคนชั่ว ขาดศีลขาดธรรม ขาดคุณธรรม ขาดจริยธรรม และพิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ว่า ความโลภเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ พระองค์ท่านสอนให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ในทรัพย์สมบัติใด ๆ เพราะทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีทุกอย่างไม่เที่ยง มีทุกอย่างเป็นทุกข์ มีทุกอย่างดับสูญสิ้นไป ไม่เหลือแม้กระทั่งตัวเรา ถ้าผู้ใดไม่มีความโลภ ก็จะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข ไม่เดือดร้อน เพราะกุศลคือความฉลาด เป็นสมบัติอันประเสริฐของมนุษย์
๒. อโทสะ หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่คิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น เช่น ไม่คิดฆ่าผู้อื่น ไม่คิดทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่คิดด่าว่า พูดส่อเสียดทำให้ผู้อื่นเสียใจ เสียชื่อเสียง ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ถึงแม้จะมีผู้ที่ทำให้โกรธก็ให้อภัย ผู้ที่ไม่มีความโกรธ ก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนไว้ว่า ความโกรธเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ พระองค์ท่านจึงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ว่าเราว่าเขา พระผู้มีประภาคเจ้าตรัสสอนว่า ตัวเราไม่ใช่ตัวตนมีเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นรูปเป็นนามเท่านั้น เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว แม้จะมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะไม่เกิดความโกรธ ผู้ใดที่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เมื่อมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบ ก็จะเกิดความโกรธ คิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น สังคมจะเกิดความวุ่นวาย บ้านเมืองก็จะอยู่กันอย่างไม่สงบสุข
๓. อโมหะ หมายถึง ความไม่หลงผิด ไม่ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นผู้รู้จักบาป บุญ คุณโทษ เป็นผู้มีสติปัญญาดี ระลึกรู้ถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เสมอว่า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เป็นของคู่กัน และมีความเสื่อมในที่สุด ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของวิเศษสุดสำหรับชีวิต และไม่ยึดติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เข้าใจในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอนว่าผู้ใดมีความฉลาด ไม่เป็นทาสของกิเลส รู้เท่าทันอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ไม่หลงลืมตน มีความเป็นอยู่อย่างสงบสุข
ผู้ใดหลงผิดยึดมั่นถือมั่นอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เข้าใจผิดคิดว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นของดีที่วิเศษ คิดว่าจะทำให้มีความสุขตลอดชีวิต จึงลุ่มหลงมัวเมา ไม่รู้จักบาปบุญคณโทษ แสวงหาสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการโดยการทำผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ว่า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เป็นของคู่กัน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุด ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมา เพราะเป็นเหตุของการเกิดทุกข์