คิดอย่างไรจึงไม่เกิดทุกข์
คำว่า “ทุกข์” คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
มนุษย์มีความทุกข์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเกิดมาแล้ว ก็มีเสียงร้องบ่งบอกถึงความทุกข์ เพราะหิว เพราะหนาว เพราะร้อน มีความไม่สบายกายเกิดขึ้น จำเป็นที่ผู้เป็นแม่ต้องหาผ้ามาห่ม หานมมาให้กิน ต่อจากนั้นทุกข์ ก็เกิดขึ้นตามลำดับ พ่อแม่ก็มีความเป็นทุกข์ใจ จำเป็นต้องหาอาหาร หาเครื่องนุ่งห่ม หาที่อยู่อาศัย หายารักษาโรคให้ลูก
ส่วนเด็กที่เกิดมาก็จะเป็นทุกข์ตามลำดับ เช่น ทุกข์เพราะหิว ทุกข์เพราะอิ่ม ทุกเพราะต้องขับถ่าย ทุกข์เพราะร้อน เพราะหนาว ทุกข์เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์เพราะเรื่องการเรียน ทุกข์เพราะเรื่องงาน ทุกข์เพราะอยากมีคู่ครอง นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษย์เป็นประจำ ดังที่ทุกคนได้รับความทุกข์เหล่านั้นกันอยู่แล้ว
ความคิดของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เป็นทุกข์ เพราะจำเป็นจะต้องมีปัจจัยสี่ เช่น คิดอยากกินอาหารก็เป็นทุกข์ คิดอยากได้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็เป็นทุกข์ คิดอยากได้ยารักษาโรคก็เป็นทุกข์ คิดอยากมีที่อยู่อาศัยก็เป็นทุกข์ คิดอยากมีคู่ครองก็เป็นทุกข์ เมื่อได้มาแล้วก็เป็นทุกข์ คิดพอใจรักใคร่ในสิ่งต่าง ๆ อยากได้สิ่งนั้น มาเป็นของ ตนก็เป็นทุกข์ คิดเกลียดชังไม่พอใจในสิ่งใด ๆ ก็เป็นทุกข์ คนที่ไม่มีทรัพย์ (คนจน) ก็เป็นทุกข์เพราะอยากรวยเหมือนผู้อื่น ส่วนคนที่มีทรัพย์ (คนรวย) มากแล้วก็เป็นทุกข์ เพราะอยากรวยมากขึ้น และกลัวทรัพย์ที่มีอยู่จะหมดไปก็เป็นทุกข์ ส่วนคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นทุกข์ เพราะกลัวตาย คนที่แก่ก็เป็นทุกข์เพราะไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ความคิดของมนุษย์ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
ข้าพเจ้าได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาเป็นเวลา ๒๘ ปีเศษ ได้เห็นสัจธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอนถึงความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทุกชีวิตที่เกิดมา มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทั้งสิ้น เมื่อข้าพเจ้าเห็นตามพระพุทธองค์ ดังนี้แล้ว จึงหาวิธีว่า “คิดอย่างไรจึงจะไม่เกิดทุกข์”
อนิจจัง คือความไม่เที่ยง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน
ทุกขัง คือความทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เกิดจากเรายึดมั่นถือมั่นในตัวตน และลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
อนัตตา คือความสูญสลาย หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ย่อมสูญสลายไปตามธรรมชาติ
คิดว่า ทุกชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ มีการตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุด ตัวอย่างเช่น มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแล้วจะมีชีวิต ตั้งอยู่ได้ ตามกฎแห่งกรรม บางคนมีชีวิตอยู่ได้ ๑ วัน, ๑ เดือน . ๑ ปี, หรือ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๑๐๐ ปี เป็นต้น ชีวิตก็ต้องดับสูญ (ตาย) ด้วยกันทุกคน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้แม้แต่คนเดียว หรือสิ่งต่าง ๆ ที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต ในโลกนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ
คิดถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ทุกชีวิตต้องตาย คิดว่าวันนี้เรายังมีชีวิตอยู่ พรุ่งนี้ไม่แน่เราอาจจะตาย ชั่วโมงนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ชั่วโมงหน้าไม่แน่เราอาจจะตาย ห้านาทีนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ห้านาทีหน้าไม่แน่ อาจตาย
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราควรทำอะไร ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ให้มากที่สุด เท่าที่สามารถจะทำได้ ตามกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา คือการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น การให้ทาน ซึ่งมีอามิสทาน วิทยาทาน อภัยทาน และธรรมทาน นำศีลมารักษา กาย วาจา ให้สะอาดปราศจากความชั่ว โดยปฏิบัติตามศีล ๕ ศีล ๘ อยู่เป็นประจำ และฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ฝึกเจริญวิปัสสนา โดยนำคำสอนของพระพุทธองค์ มาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ในแต่ละข้อตามลำดับ เช่น พิจารณา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ และอาการ ๓๒ ที่ประกอบเป็นตัวตนของเรา ให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม มาประกอบกันขึ้นเท่านั้น ไม่ควรไปลุ่มหลง มัวเมา ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน และเป็นสิ่งที่วิเศษ สามารถจะบันดาลความสุขให้เราได้
ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกชีวิตที่เกิดมาก็ต้องตาย ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวตามตนไปได้เลย สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติกันขึ้นมาทั้งสิ้น และเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ โดยแท้จริง
ในเมื่อเรารู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่า เราจะไม่สามารถที่จะเอาทรัพย์สมบัติใด ๆ ไปได้เลย และรู้อีกว่าสิ่งที่เราเอาไปได้ คือ กรรมดีและกรรมชั่ว ที่จะส่งผลให้ไปเกิด ณ ที่ใดที่หนึ่ง เราก็คิดต่อไปอีกว่า เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ เป็นต้นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใด ๆ แม้แต่ตัวเราก็เอาไปไม่ได้ เช่นกัน
ในเมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว เราก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จึงคิดได้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา และไม่ใช่เป็นของใครทั้งสิ้นจึงเป็นเหตุให้ ข้าพเจ้าคิดต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาสิ่งใดในโลกนี้” ในเมื่อเราไม่ปรารถนาสิ่งใดในโลกนี้แล้ว ไฉนเลยจะเป็นทุกข์เล่า นี้คือ ความคิดที่ไม่ทำให้เกิดทุกข์
โดย ป.เจริญธรรม
( แม่ชี ประยงค์ ธัมวงศานุกูล )
๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด
เขตบางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖