http://www.porjarearntum.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ05/04/2009
อัพเดท06/09/2022
ผู้เข้าชม712,249
เปิดเพจ963,747

บริการ

หน้าแรก
บทความ
เว็บบอร์ด
รวมรูปภาพ
ติดต่อเรา

บทกลอนธรรมะ

จูงมือลูกเดิน

ระลึกได้และรู้ตัวหมายความว่าอย่างไร

รัตนะ ๓ หมายความว่าอย่างไร

อันตรายของภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง

ความจริงอันประเสริฐที่ควรรู้ ๔ ประการ

ธรรมะอันทำให้งาม มี ๒ ประการ

ธรรมคุ้มครองโลก

เสียงเทศน์ทำใหม่ล่าสุด

วงล้อแห่งพระธรรมที่นำไปสู่ความเจริญ ๔ อย่าง

ทุจริต ๓ หมายความว่าอย่างไร

สุจริต ๓ หมายความว่าอย่างไร

วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓ ประการ หมายความว่าอย่างไร

คุณของรัตนะ ๓ หมายความว่าอย่างไร

ท่านเป็นมนุษย์ปุถุชนประเภทใด

มูลเหตุของความโง่เขลา

มูลเหตุของความฉลาด

ท่านรู้จักตนเองว่ามีกิเลสหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างไร

ท่านรู้จักมนุษย์ ๔ ประเภทหรือยัง ?

คิดดี พูดดี ทำดี

ความสุข ความทุกข์ ความสบาย แตกต่างกันอย่างไร

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการ

ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบและเกิดปัญญา

ศาสนาคืออะไร

ป่วยกาย ป่วยใจ หมายความว่าอย่างไร

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการ (เนื้อหา)

ทำความดีเพื่ออะไร

คุณธรรม ๕ ประการ สนับสนุนความสำเร็จ

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมายความว่าอย่างไร

ศีล ในพระพุทธศาสนา ๒๒๗ ข้อ ภาคภาษาไทย อ่านแล้วเข้าใจง่าย

ปัจจัย ๔ รูปธรรม และ ปัจจัย ๔ นามธรรม

มนุษย์ เป็นโรค ๔ อย่าง บ้า ใบ้ บอด หนวก

ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปหมายความว่าอย่างไร

ระวังจิต ระวังอารมณ์ หมายความว่าอย่างไร

สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง สิ่งที่ไม่เป็นทุกขัง สิ่งที่ไม่เป็นอนัตตา มีจริงหรือไม่

จิตสงบ จิตว่าง แตกต่างกันอย่างไร

อยากรู้ อยากห็น อยากเป็น อยากไป หมายความว่าอย่างไร

มืดมามืดไป และสว่างมาสว่างไป หมายความว่าอย่างไร

สิ่งที่มีมาก ทำให้น้อยลง สิ่งที่มีอยู่ทำให้หมดไป

ความเห็นแก่ตัว กับการรักตัวเอง

ท่านพบเห็นเมืองพอแล้วหรือยัง

การทำความชั่วเพราะเหตุ ๔ ประการ

รู้จด รู้จำ รู้แจ้ง หมายความว่าอย่างไร

สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน ฟังธรรมเป็นยาฉีด จริงหรือ

ผู้ที่ไม่แต่งงาน จะตกนรก จริงหรือไม่

มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

ก็ต้อง ก็ได้ ก็ดี หมายความว่าอย่างไร

บันใด ๘ ขั้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น

งามทั้ง กาย วาจา ใจ

ผู้ที่ฝีกสมาธินาน ๆ ไม่เกิดปัญญาเพราะเหตุใด

คิดอย่างไรจึงไม่เกิดทุกข์

จิตใต้สำนึก

คุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ

ทำใจ หมายความว่าอย่างไร

ประเพณีงานศพที่ถูกต้อง... เหตุใดจึงต้องเผาศพ...

ความเบื่อของปุถุชนกับความเบื่อของพระอริยะ

พระราชดำรัส คุณธรรม ๔ ประการ(เนื้อหา)

มีสิ่งใด สิ่งนั้นก็เสื่อม

บวชเพื่ออะไร

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ

ทุกข์และวิธีปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์

บุคคลที่หาได้ยาก ความกตัญญูกตเวที

การฝึกสมาธิเพื่อให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดหรือถูก...

ความหวัง

มืดมาสว่างไป สว่างมามืดไป หมายความว่าอย่างไร

ผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม มีโทษอย่างไร

แผ่นพับธรรมะ

ความสุข ความทุกข์ ความสบาย แตกต่างกันอย่างไร

ความทุกข์  ความสุข  ความสบาย  แตกต่างกันอย่างไร 

ความทุกข์

            ความทุกข์  หมายถึงความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ

            ความทุกข์กาย  หมายถึง ความไม่สบายกาย  คือ ความเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ  ที่เกิดกับธาตุ ๔  และอาการ  ๓๒  ที่ประกอบเป็นตัวตนของมนุษย์ทุกคน  การเจ็บป่วยของร่างกาย มีทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน

-         การเจ็บป่วยอวัยวะภายนอก  คือ ความเจ็บป่วยที่  ศีรษะ  แขน ขา ด้านหน้า ด้านหลัง  เป็นต้น เช่น เกิดอุบัติเหตุ  หัวแตก  หูขาด  ปากฉีก  ฟันหัก  แขน ขาหัก แขนขาด  ขาขาด เป็นต้น  นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายนอกของร่างกาย

-         การเจ็บป่วยอวัยวะภายใน  คือ เจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับสมองโรคปอด  โรคหัวใจ โรคตับ  โรคไต    โรคกระเพาะ  โรคลำไส้  เป็นต้น นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของร่างกาย ยังมีความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากธาตุทั้ง  ๔  คือ  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งผิดปกติจะเกิดทุกข์ขึ้นทันทีเช่น

-         ธาตุดิน  ประกอบด้วย   ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  กระดูก  ตับ ไต  ไส้พุง รวมทั้งอวัยวะภายในต่าง ๆ  ไม่สมบูรณ์  แข็งแรง เพราะธาตุดินผิดปกติ  อาการเจ็บปวดจึงเกิดขึ้นกับร่างกายได้ทุกที่  นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการผิดปกติของธาตุดิน

-          ธาตุน้ำ  ประกอบด้วย  น้ำเลือด  น้ำเหลือง  น้ำลาย  น้ำเหงื่อ  น้ำปัสสาวะ น้ำมูก  เป็นต้น  ถ้าธาตุน้ำมีน้อยหรือมีมากเกินไป  ทำให้เกิดการไหลเวียน ของธาตุน้ำในร่างกายผิดปกติ  จึงเกิดอาการอ่อนเพลียทั่วร่างกาย  นี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการผิดปกติของธาตุน้ำ

-         ธาตุลม  ประกอบด้วย  ลมหายใจ  ลมเข้า - ออก ทุกทวาร  เป็นต้น  ถ้ามีลมเข้าออกน้อยหรือมากเกินไป  ทำให้การหายใจไม่สะดวก  มีอาการอ่อนเพลีย  อึดอัด จุกเสียดแน่น  หรือสะอึก  นี้คือความทุกข์ที่เกิดจากการผิดปกติของธาตุลม 

-         ธาตุไฟ  คือ  ความร้อนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย  ถ้าธาตุไฟมีน้อยเกินไปจะทำให้เกิดอาการหนาวสั่น  ถ้าธาตุไฟมากเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนมาก  มีอาการปวดหัว  ตัวร้อน  กระสับกระส่าย  กระวนกระวาย  นี้คือความทุกข์ที่เกิดจากการผิดปกติของธาตุไฟ

            ด้วยเหตุที่มีกายประกอบด้วยธาตุ  ๔  และอาการ  ๓๒  จึงเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ประจำ  เช่น  ทุกข์เพราะหิวมากเกินไป  ทุกข์เพราะอิ่มมากเกินไป  ทุกข์เพราะถ่ายหนักถ่ายเบา  ทุกข์เพราะ  นั่ง  นอน  ยืน  เดินน้อยหรือมากเกินไป  ทุกข์เพราะร้อนมาก  ทุกข์เพราะหนาวมาก  ความทุกข์เหล่านี้ไม่มีใครคิดว่าเป็นทุกข์  เพราะเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า  เพราะมนุษย์มีร่างกาย  ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์  หาความสุข  ความสบายไม่ได้เลย  ตั้งแต่เกิดจนตาย  เพราะการเกิด  แก่  เจ็บ ตาย  ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น  พระองค์ท่าน  จึงให้พิจารณาไตร่ตรองธรรมชาติที่เกิดขึ้นให้เห็นทุกข์ที่แท้จริง  ที่เกิดจากการมีร่างกาย  เพื่อจะได้ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และนำความสุขมาให้  แท้ที่จริงแล้วร่างกายนี้เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ทั้งสิ้นทั้งปวง นี้คือความทุกข์ที่เกิดจากการมีร่างกาย  (รูปธรรม)

       ความทุกข์ใจ   หมายถึงความไม่สบายใจ  เกิดจากกิเลสทั้ง  ๓  อย่าง  มีความโลภ  ความโกรธ   ความหลง  ซึ่งเป็นนามธรรมที่ไม่มีตัวตน  จับต้องไม่ได้  แต่มีอำนาจมาก  สามารถปรุงแต่งจิตให้คิดตาม  ปรุงแต่งวาจาให้พูดตาม  ปรุงแต่งกายให้ทำตามได้ทุกอย่าง  ขึ้นอยู่ว่าในขณะนั้น ๆ  กิเลสข้อใดครอบงำจิต  เช่น 

-         ความโลภครอบงำจิต  คือมีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด เช่น เมื่อตามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ก็เกิดความโลภ  อยากได้มาเป็นของตน  จึงหาทางที่จะได้สิ่งนั้นมา  จะด้วยวิธีใด ๆ   ที่ผิดกฎหมาย  หรือผิดครรลองคลองธรรมก็ตาม  ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับมนุษย์ทั่วไปในปัจจุบัน  นี้คือตัวอย่างหนึ่งของความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเพราะความโลภครอบงำจิต

-         ความโกรธครอบงำจิต  คือความไม่พอใจในสิ่งต่าง ๆ  เกิดความอาฆาตพยาบาท  ปองร้ายกันขึ้นเช่น  โกรธเพราะถูกโกงทรัพย์สินเงินทอง   โกรธเพราะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม  ประณามให้เสียชื่อเสียง  เป็นต้น  จิตที่ถูกกิเลสความโกรธครอบงำก็จะปรุงแต่งให้หาทางแก้แค้น  โดยคิดที่จะทำร้าย  ทำลาย  ชีวิต ทรัพย์สิน และชื่อเสียงของคู่กรณี  ให้เสียหายย่อยยับ ไปตามอำนาจของความโกรธในขณะนั้น  ถ้าโกรธมากก็สามารถฆ่ากันตายได้  ถ้าโกรธไม่มากนัก ก็จะคิดทุบตี ด่าว่า  ให้เจ็บกายเจ็บใจ  ถ้าโกรธน้อยก็จะคิดผูกโกรธเอาไว้   จะแก้แค้นเมื่อมีโอกาส ถ้ายังไม่ได้แก้แค้นให้สมใจ  ความทุกข์ใจก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา บางคนโกรธแค้นมากถึงกับคิดจองเวรไปในชาติหน้าหรือชาติต่อ ๆ ไป นี้คือตัวอย่างหนึ่งของความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเพราะความโกรธครอบงำจิต

-         ความหลงครอบงำจิต  คือ  ความพอใจ  รักใคร่  ในสิ่งต่าง ๆ  จึงเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น  ว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้บันดาลความสุขกาย สุขใจให้ จึงเกิดความลุ่มหลงมัวเมา  ไขว่คว้าหามาเป็นของตนให้ได้มากที่สุด  โดยไม่มีความพอเพียงอยู่ในใจ  ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  เช่น 

        ผู้ใดมีความพอใจรักใคร่ ในทรัพย์สินเงินทอง  ก็แสวงหาให้ได้มาโดยวิธีใด ๆ ก็ตาม  ไม่ว่าจะทุจริต  คดโกง  จะผิดกฎหมาย  ผิดครรลองคลองธรรมก็ยอม  เมื่อได้มาแล้วก็ยังไม่พอ  จะต้องหาเพิ่มมากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะเข้าใจผิดว่าถ้ามีทรัพย์สินเงินทองมากแล้ว จะเป็นคนรวย  มีศักดิ์ศรี  มีชื่อเสียงเหนือกว่าผู้อื่น  มีคนยกย่องสรรเสริญ  ก็พอใจ  โดยไม่คำนึงถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ที่ตรัสสอนว่า  มีลาภ  ก็เสื่อมลาภ  เมื่อมีลาภก็เป็นทุกข์ใจ   เมื่อสูญเสียทรัพย์สินเงินทองก็เกิดความทุกข์ใจตามมา นี้คือตัวอย่างหนึ่งของความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเพราะความหลงครอบงำจิต  เพราะเข้าใจผิดว่า  มีทรัพย์มากแล้วจะมีความสุข

       ผู้ใดมีความพอใจ รักใคร่ในการเสพกาม  เพราะถูกกิเลสความหลงครอบงำจิต  เข้าใจผิดว่า  การเสพกามเป็นความสุข  เราจะเห็นได้ว่า  หญิงชาย  จะเปลี่ยนคู่สู่สมกันเป็นประจำ  ถึงแม้จะแต่งงานถูกต้องตามประเพณีแล้วก็ตาม  หญิงชายบางคนก็จะเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย ๆ โดยไม่เห็นความทุกข์ใจของตนเอง  และความทุกข์ใจของผู้อื่น  บางคน บางคู่ก็เกิดการทะเลาะวิวาทแตกแยกกัน  บางคนฆ่าผู้อื่นตาย  บางคนฆ่าตัวเองตายก็มีที่เกิดเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้  เพราะไปยึดมั่นถือมั่น  ลุ่มหลงมัวเมา  ว่าเธอเป็นของฉันฉันเป็นของเธอ  จึงมีความทุกข์ใจตลอดกาล  ทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป  นี้คือตัวอย่างหนึ่งของความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเพราะความหลงครอบงำจิต

            ความจริงทุกข์ของมนุษย์มีมากมาย  เช่นทุกข์เพราะ  เกิด แก่  เจ็บ  ตาย  ทุกข์เพราะมีสามี  ภรรยา  ทุกข์เพราะมีลูกหลาน  มีญาติพี่น้อง  ทุกข์เพราะมีทรัพย์สมบัติ  ทุกข์เพราะมียศถาบรรดาศักดิ์  ทุกข์เพราะต้องหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย  (ยิ่งเลี้ยงยิ่งแก่)  ทุกข์เพราะต้องหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  ทุกข์เพราะต้องหาที่อยู่อาศัย  ทุกข์เพราะต้องหายามารักษาโรคเวลาเจ็บป่วย  ทุกข์เพราะต้องหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว  ทุกข์ เพราะยากจน  ทุกข์เพราะอยากรวย  ทุกข์เพราะไม่มีงานทำ  ทุกข์เพราะพิการ  เป็นต้น นี้คือความทุกข์กายทุกข์ใจ  ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนในโลกนี้  เพราะฉะนั้นความทุกข์กายทุกข์ใจ  ที่เกิดขึ้นจากกิเลสทั้ง ๓  อย่าง  มีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ที่ครอบงำจิต  มนุษย์ที่เป็นทาสของกิเลส  จึงมีแต่ความทุกข์มากมาย  ดังที่มนุษย์ได้รับความทุกข์อยู่ทุกวันนี้ 

          ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนรู้จักกิเลส  เพราะว่า  กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต  คือความทุกข์ใจนั้นเอง  พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์ชำระกิเลสให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด  พระองค์ทรงสอนไว้มากถึง  ๘๔,๐๐๐  บท  ล้วนเป็นคำสอนที่มีไว้ให้มนุษย์ศึกษาหาความรู้จะได้รู้จักตนเอง  รู้จักกิเลส  รู้จักวิธีชำระกิเลส  เพื่อให้มนุษย์ พ้นทุกข์  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  นี้คือเจตนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ที่จะช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสทั้ง  ๓ อย่างนี้  จะได้มีความสบายชั่วนิจนิรันดร  ส่วนผู้ใดจะศึกษาและปฏิบัติตามหรือไม่นั้น  พระองค์ไม่ทรงบังคับ 

          ผู้ใดเห็นด้วยกับพระองค์ท่าน  ก็ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนให้ถึงที่สุด  คือชำระกิเลสทั้ง  ๓  อย่าง  ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ  หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาเกิดเป็นเทวดา  ไม่ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์  เป็นสัตว์เดรัจฉาน  เป็นสัตว์นรก  เป็นเปรต  เป็นอสุรกาย  อีกต่อไป

          ส่วนผู้ใดคิดว่าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีความสุขอย่างยิ่ง  ก็จงปฏิบัติตามกิเลสทั้ง  ๓  อย่างนี้ต่อไป  คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดมาเป็นมนุษย์  เป็นสัตว์เดรัจฉาน  เป็นสัตว์นรก  เป็นเปรต  เป็นอสุรกาย  ทุก ๆ  ชาติ ไป   

ความสุข

         ความสุข  หมายถึงความพอใจรักใคร่ในสิ่งต่าง  ๆ ในขณะนั้น เช่น ชายและหญิงมีความพอใจรักใคร่กัน  ก็รู้สึกมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดกัน  อยู่ด้วยกัน กินอาหารด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน  พูดคุยกัน  นอนด้วยกัน  ประกอบกิจการงานร่วมกัน  และช่วยกันทำมาหากิน  ทั้งสองคนจะรู้สึกว่ามีความสุขมาก  แม้จะเหนื่อยกายบ้างก็ยอม มีความสุขใจ หน้าตาสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน  นี้คือความสุขของมนุษย์ที่มีคู่ครอง  อยู่มาไม่นานนัก  ความพอใจรักใคร่จางหายไป  ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม  ความสุขที่เคยมีก็กลับกลายเป็นความทุกข์อย่างหนัก  จนอยู่ด้วยกันไม่ได้  ไม่กินอาหาร ไม่ไปเที่ยว  ไม่คุยกัน ไม่นอนด้วยกัน  และไม่ประกอบการงานใด ๆ ร่วมกันอีกต่อไป  เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันในที่สุด  นี้คือความจริงที่ปรากฏขึ้นแล้วกับมวลมนุษย์ทั้งโลก  ในปัจจุบันนี้  และ มนุษย์ส่วนมากเป็นเหมือนกันหมด  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสอนไว้ว่าความสุขที่อิงอามิส(สิ่งของต่าง ๆ ) ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  ที่มนุษย์รู้สึกว่าเป็นสุข   ก็เพราะว่ามีกิเลสความหลงครอบงำจิต  จึงเข้าใจผิดว่า  การมีคู่ครองเป็นความสุขที่สุด  แท้ที่จริงแล้วเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  ตั้งแต่เริ่มรักกัน  อยู่ด้วยกัน จนแยกทางกัน หรือตายจากกัน

        ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาให้ถ่องแท้เถิดว่า  การมีคู่ครองเป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์  มนุษย์ส่วนมากคิดว่าเมื่อมีคู่ครองแล้ว  ต้องมีลูก  เพราะคิดว่าครอบครัวจะมีความสุขที่สมบูรณ์  เมื่อมีลูกแล้วความทุกข์ก็ตามมาทันที  เช่น ทุกข์เพราะรักและห่วงใยตั้งแต่อยู่ในครรภ์กลัวลูกเกิดมา  จะมีร่างกายที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์  เมื่อลูกเกิดมาลืมตาดูโลกแล้ว  พ่อแม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต  พ่อแม่ต้องหาอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  ที่อยู่อาศัย  มาให้ลูกอยู่อย่างสบาย  พ่อแม่ต้องหาสถานศึกษาที่ดีให้ลูกเรียน  เมื่อเรียนจบแล้วก็หางานดี ๆ ให้ลูกทำ  หาคู่ครองที่ดีให้ลูก เพื่อจะได้มีครอบครัวที่เป็นหลักฐานมั่นคง  นี้คือความทุกข์ของพ่อแม่ทุกคน

       พ่อแม่ที่คิดว่ามีลูกแล้วจะมีความสุข  ก็เพราะมีกิเลสความหลงครอบงำจิต  เข้าใจผิดว่าลูกเป็นผู้นำความสุขมาให้  จิตจึงเกิดการยึดมั่นถือมั่นว่าลูกของตนจะต้องดี  ต้องเด่นเหนือลูกคนอื่น ยอมเหน็ดเหนื่อย  เสียเงินเสียทองให้ลูก  ไม่ว่าลูกจะทำถูกหรือทำผิด ลูกจะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว  ขอให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า การมีลูกเป็นความสุขจริงหรือไม่  บางคนมีลูกที่ไม่ดีทำแต่ความชั่ว เป็นนักเลงการพนัน  ดื่มสุรา เสพยาเสพติด  เป็นนักเลงผู้หญิง  คบคนชั่วเป็นมิตร  ไม่เชื่อฟังคำสอนของพ่อ แม่ ครู อาจารย์นำความเดือดร้อนมาสู่พ่อแม่และสังคม  นี้คือความทุกข์ตลอดชีวิตของพ่อแม่ที่เกิดจากการมีลูก  เพราะฉะนั้น ความสุขของมนุษย์คือความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๆ เมื่อเกิดความไม่พอใจรักใคร่ในสิ่งเดียวกันนั้น  ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที นี้คือความจริงตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

            ความสุขที่เกิดจากความพอใจรักใคร่ในทรัพย์  เช่น มีรถยนต์ เมื่อซื้อครั้งแรกก็พอใจรักและหวงแหนทะนุถนอม  ทำความสะอาดบ่อย ๆ อยู่มาอีกไม่นานนัก  ไปพบเห็นรถคันใหม่ สีใหม่ ยี่ห้อใหม่ เกิดความพอใจอยากได้คันใหม่เบื่อคันเก่า  เกิดความทุกข์ อยากขาย  อยากแลกเปลี่ยน  เพื่อให้ได้คันใหม่มาเป็นของตน  ถ้าไม่ได้ดังใจ  ก็เป็นทุกข์ไม่จบไม่สิ้น  ส่วนทรัพย์สมบัติอื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน เครื่องประดับต่าง ๆ สร้อยคอ สร้อยแขน  แหวน  นาฬิกา  ต่างหู  หรือเสื้อผ้าอาภรณ์  และเครื่องตกแต่งบ้านเป็นต้น  มีความพอใจรักใคร่  ก็จะซื้อหามาเป็นของตน  เมื่อแรก ๆ ก็มีความสุขเป็นอย่างยิ่ง  พออยู่มาไม่นาน  เมื่อเห็นแบบใหม่  ก็อยากได้ของใหม่ เบื่อของเก่า  ก็เกิดทุกข์  ต้องเอาไปซื้อขายแลกเปลี่ยน  กว่าจะได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์อีกนาน  นี้คือความทุกข์ที่เกิดจากการมีทรัพย์   ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เมื่อมีแล้วทำให้รู้สึกว่ามีความสุข   เพราะเกิดจากกิเลสความหลง  คือความพอใจรักใคร่ในสิ่งต่าง ๆ มันเป็นเพียงความสุขชั่วคราวเท่านั้น  ในที่สุดสิ่งที่เราพอใจนั้น  ก็ทำให้เราเกิดทุกข์อย่างแท้จริง นี้คือความสุขที่อิงอามิส ( ทรัพย์สมบัติสิ่งของต่าง ๆ )

            ความสุขที่เกิดจากความพอใจในยศ  เช่นข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  เมื่อเข้ารับราชการใหม่ ๆ มียศน้อย  ก็พอใจดีใจมีความสุข  เวลาผ่านไปเห็นเพื่อนข้าราชการที่มียศสูงกว่า  เกิดความทุกข์  อยากมียศสูง ๆ บ้าง  บางคนยอมเสียเงินเสียทองวิ่งเต้นผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้ยศตามต้องการ  ตามชั้นยศเรื่อย ๆ ไป  ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ  นี้คือความทุกข์ที่เกิดจากความหลงยศ  จะหาความสุขไม่ได้เลย  นอกจากผู้ที่มีความสันโดษเป็นสันดาน  พอใจในสิ่งที่มี  ที่ได้  ที่เป็น  ก็จะมีความสุขอยู่บ้าง  เพราะพอใจในวาสนา บุญบารมีของตน

            มีความสุข พอใจในคำสรรเสริญ  เยินยอ  แต่เราก็มีทุกข์ในคำติฉินนินทา ด่าว่าต่าง ๆ  เพราะฉะนั้น  เมื่อมีความสุขกับสิ่งใด ๆ สิ่งนั้นก็ทำให้เรามีความทุกข์  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสอนไม่ให้เรายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใด ๆ  ในโลกนี้  แม้แต่ตัวของเรา  เพราะพระองค์ตรัสรู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่า  ทางโลกกับทางธรรมเป็นของคู่กัน  พระองค์ทรงสอนไว้ว่า  มีลาภ เสื่อมลาภ  มียศ เสื่อมยศ  มีสรรเสริญ มีนินทา  มีสุข มีทุกข์ 

            ทางโลกสอนว่า  มีลาภดีเป็นความสุข 

            ทางธรรม (พระธรรมคำสอน)สอนว่า มีลาภ ก็เสื่อมลาภเป็นความทุกข์

            ทางโลกสอนว่า มียศดีเป็นความสุข 

            ทางธรรม สอนว่า  มียศ  ก็เสื่อมยศเป็นความทุกข์

            ทางโลกสอนว่า มีสรรเสริญดีเป็นความสุข 

            ทางธรรม สอนว่า  มีสรรเสริญ ก็มีนินทาเป็นความทุกข์

            ทางโลกสอนว่า  มีสุขดีเป็นความสุข

            ทางธรรม สอนว่า  มีสุข ก็มีทุกข์ 

            ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิดว่า  เกิดมาเป็นมนุษย์มีสุขมีทุกข์  เป็นของคู่กัน แท้ที่จริงแล้วตราบใด  ที่มนุษย์ยังมีกิเลสทั้ง  ๓  อย่าง คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ครอบงำจิต  ก็จะมีทั้งความสุขและความทุกข์ ทุกชาติ ๆ ตลอดไป  ผู้ที่จะพ้นจากความทุกข์หรือความสุขได้  ต้องชำระกิเลสให้หมดสิ้น จากจิตใจ  ก็จะมีแต่ความสบายเท่านั้น 

ความสบาย

            ความสบาย  หมายถึง  ความสบายใจ  ไม่มีสุข  ไม่มีทุกข์  ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ดีใจกับการได้  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข ไม่เสียใจกับการต้องสูญเสีย  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  เพราะเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า  ทุกอย่างในโลกนี้  เป็น อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

อนิจจัง มีความไม่เที่ยงแน่นอน

ทุกขัง  มีทุกอย่างในโลกนี้ แม้แต่ตัวเราก็เป็นทุกข์

อนัตตา  ทุก ๆ อย่างในโลกนี้  ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา  และกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา  และไม่ใช่ของใครเลย แม้แต่คนเดียว  เราจะเห็นได้ว่าทุกคนเกิดมา  ก็มาแต่ตัวเปล่า  มีเพียงธาตุ  ๔  ขันธ์  ๕  ประกอบไปด้วยอาการ  ๓๒  ที่เรียกว่ารูปธรรมและนามธรรม  เท่านั้น  เมื่อตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย  จะมีทรัพย์สมบัติมากมาย  จะมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งเพียงใด  ก็นำติดตัวไปไม่ได้เลย  นอกจากความดี  และความชั่วที่เราได้ทำไว้  ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ที่จะติดตัวตามตนไปได้ในชาติต่อ ๆ ไป  เพราะฉะนั้น  ผู้ที่มีสติปัญญาอันเป็นเลิศจึงไม่ยึดติดอยู่ใน  รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์  ไม่ลุ่มหลงมัวเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  จึงไม่มีความสุข  ไม่มีความทุกข์  มีแต่ความสบายใจไร้กังวลต่อสิ่งใด ๆ  เพราะไม่มี ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  มาปรุงแต่งจิตให้หวั่นไหว  กับสิ่งที่มากระทบ  ตา  หู จมูก  ลิ้น  กาย ใจ  เพราะจิตสะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมองอย่างสิ้นเชิง  ส่วนร่างกายก็สะอาดปราศจากความชั่วต่าง ๆ เพราะได้ปฏิบัติตามพระธรรม  คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  อย่างเคร่งครัด  คือ ตั้งใจละชั่ว  ประพฤติดี  และชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้ง  ๓  อย่าง  ได้ตลอดชีวิต  ชาตินี้จึงมีแต่ความสบายใจเท่านั้น  เพราะจิตเข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้น  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  มีแต่ความสบาย  ชั่วนิจนิรันดร นี้คือความสบายที่แตกต่างจากความสุข 

ความทุกข์  คือความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  เกิดจากกิเลสทั้ง  ๓  อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ  ความหลง  ทำให้เกิดการคิดชั่ว  พูดชั่ว  ทำชั่ว

ความสุข  คือ ความพอใจ  รักใคร่ใน  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ธรรมารมณ์  พอใจใน  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ สุข  ในที่สุดก็เกิดทุกข์ตามมา

ความสบาย   คือ ความสบายใจ  เพราะไม่มีกิเลส  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง อยู่ในจิตใจ  มีแต่ สติ ปัญญาอันเป็นเลิศ  คอยควบคุม  กาย  วาจา  ใจ  ให้คิดดี  พูดดี  ทำดี  เท่านั้น  จึงไม่มีความทุกข์  มีแต่ความสบาย  ในชาตินี้และ สบายชั่วนิจนิรันดร 

นี้คือความแตกต่างกัน  ของความทุกข์   ความสุข  ความสบาย

 

 

บรรณานุกรม

๑)  นวโกวาท  ( ฉบับประชาชน )  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ   วโรรส  โรงพิมพ์  มหามกุฏราชวิทยาลัย  หน้า     วัดบวรนิเวศน์วิหาร  กรุงเทพฯ  พลอากาศเอก  หะริน  หงสกุล  ผู้พิมพ์      ผู้โฆษณา  พ.ศ. ๒๕๔๓

๒)  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๔๒  จัดพิมพ์โดย  บริษัท       นานมีบู๊คส์  พับลิเคชั่นส์  จำกัด  ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙  หมู่  ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต     บางนา แขวงบางนา  กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐)  พ.ศ. ๒๕๔๖

๓)  หนังสือบูรณาการแผนใหม่  นักธรรมชั้นตรี  เรียบเรียงโดย  คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง  เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง  ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ  ซอย ๔๕  เขตทุ่งครุ   กรุงเทพฯ  (๑๐๑๔๐)  พ.ศ. ๒๕๔๖

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view