ความพอเพียง หมายความว่าอย่างไร
คำว่า “พอ” หมายถึงรับมาตามที่ต้องการ
คำว่า “เพียง” หมายถึงรับมาเท่าที่กำหนดไว้ ไม่ให้ขาดไม่ให้เกิน
ความพอเพียง หมายถึงได้เท่าที่กำหนดไว้ไม่ขาดไม่เกิน
การที่จะมีความพอเพียงได้ต้องมีคุณธรรม ดังนี้ คือ
๑. รู้เหตุรู้ผล หมายความว่า สาเหตุใดส่งผลให้เกิดสุข หรือสาเหตุใดส่งผลให้เกิดทุกข์
เช่นเหตุที่ส่งผลให้เกิดสุข คือการให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทองกับผู้ที่ควรให้ตามกำลังทรัพย์โดยที่ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เมื่อให้แล้วก็เกิดความสุขใจ นี่คือ ความพอเพียงของการให้ที่เป็นเหตุและผลทำให้เกิดความสุขใจ
เหตุที่ส่งผลให้เกิดทุกข์ เช่นการทุจริตคดโกง ปล้น จี้ ลัก ฉก ชิงวิ่งราว เอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น นี่คือความไม่พอเพียงในทรัพย์ เป็นเหตุและผลทำให้เกิด ความทุกข์
๒. รู้ตน หมายความว่า รู้ว่าตนเป็นใครอยู่ในตระกูลใด มียศถาบรรดาศักดิสูงต่ำเพียงใด มีฐานะ มีบริวาร มีความรู้และคุณธรรมอยู่ในระดับใด ควรต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ ประพฤติตนอยู่ในครรลองคลองธรรม วัฒนธรรม และจารีตประเพณี
๓. รู้จักประมาณ หมายความว่า รู้จักใช้ปัจจัย ๔ อย่างมีขอบเขตไม่เกินตัว ตัวอย่างเช่น รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร รู้จักประมาณในการใช้เงิน รู้จักประมาณในการแต่งกาย รู้จักประมาณในที่อยู่อาศัย รู้จักประมาณในการทำมาหากินตามกำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ และกำลังกาย ไม่ทำกิจการ
ใด ๆ ที่เกินตัว นี่คือ การรู้จักประมาณ
๔. มีความสันโดษ หมายความว่า มีความมักน้อย พอใจในสิ่งมี ที่ได้ ที่เป็น
พอใจในสิ่งที่มี เช่น มีบ้านเพียงหลังเดียวพออยู่อาศัย มีที่ดินพอทำกิน มีรถพอที่จะอำนวยความสะดวกยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีธุรกิจบางประการ มีคู่ครองเพียงคนเดียวเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ทะเยอทะยาน อยากได้ อยากมีมากกว่านี้ เพราะกลัวว่าจะเกิดความเดือดร้อน และเป็นทุกข์ตามมา นี่คือ
ความพอเพียงในสิ่งที่มี
พอใจในสิ่งที่ได้ หมายถึง การทำมาหากินที่มีรายได้ประจำวัน ประจำเดือน ประจำปี จะได้มากหรือน้อย เราควรพอใจในสิ่งที่ได้ รู้จักประหยัดอดออม ใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ใช้จ่ายเกินรายได้ รสนิยมสูงรายได้ต่ำ มีรายได้น้อยก็ใช้จ่ายน้อย แต่ควรจะเหลือเก็บไว้บ้าง เผื่อวันข้างหน้าจะได้มีใช้จ่ายเมื่อยามเจ็บไข้ ได้ป่วย หรือถ้าหากมีมาก ก็ใช้จ่ายพอควร ต้องมีส่วนที่เหลือเก็บไว้บ้าง เราต้องรู้จัก ประมาณในการบริโภคทรัพย์ เมื่อทุกคนพอใจในสิ่งที่ได้แล้ว ความโลภ ก็จะลดน้องลง การเบียดเบียน ปล้น จี้ ลัก ทุจริตคดโกง ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าทุกคนพอใจในสิ่งที่ได้ ก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข บ้านเมืองก็จะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย นี่คือ ตัวอย่าง ความพอเพียงในสิ่งที่ได้
ดังกลอนท่าน สุนทรภู่ กล่าวไว้ ( มีความพอเพียง )
อย่าให้ขาด สิ่งของ ต้องประสงค์
มีน้อย ใช้น้อย ค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลง ให้มาก จะยากนาน
กลอนบทพิเศษ ( ไม่มีความพอเพียง)
มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท
ไปตลาด ฟาดให้เหี้ยน เตียนกระเป๋า
ถ้าไม่มี ก็หยิบยืม ผู้อื่นเอา
เกิดความเศร้า เมื่อไม่มี ใช้หนี้คืน
พอใจในสิ่งที่เป็น หมายถึงพอใจในอาชีพการงานของตน ตัวอย่างเช่น ข้าราชการ หรือนักการเมือง มียศระดับใดก็ตาม ก็พอใจในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติหน้าที่ ให้ดีที่สุดมีความขยัน หมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ไม่ทุจริต คดโกง ไม่เบียดเบียน เวลาของราชการ เพื่อหาความสนุกสนาน และหาประโยชน์ส่วนตน เมื่อเราประกอบแต่กรรมดี ความดีก็จะส่งผลให้ได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ โดยไม่ต้องวิ่งเต้นเสียเงินเสียทอง ให้เกิดความเดือดร้อน แก่ตนเองและผู้อื่น ดังที่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นชาวไร่ชาวนา ก็พอใจ ในความเป็นชาวไร่ ชาวนา จะมีไร่มีนามากหรือน้อยก็พอใจในสิ่งที่มี ทำมาหากินตามกำลังสติปัญญา ตามกำลังทรัพย์ กำลังกาย มีความตั้งใจมั่น มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทนต่อความเหนื่อยยากลำบากกาย ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่เบียดเบียนกัน พอใจในสิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็น ชาวไร่ชาวนาก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เป็นพ่อค้าแม่ค้า ก็มีความพอใจในอาชีพ ค้าขาย จะมีกิจการค้าขายใหญ่น้อยต่างกันก็ตาม ต้องมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพการงานของตน ไม่ค้ากำไรเกินควร ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่โกงตาชั่ง ไม่ค้าของเถื่อน ไม่ค้ายาเสพติด ไม่ขายสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ขายอาวุธ ถึงแม้จะทำให้ร่ำรวยทรัพย์สมบัติเงินทอง มากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ยอมทุจริตต่ออาชีพของตน ถ้าทำการค้าขายโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย แม้ได้กำไรมากหรือน้อยก็พอใจ รู้จักกิน รู้จักใช้ รู้จักประหยัดอดออม ให้เหมาะสมกับรายได้ ก็จะมีความสุขกับการเป็นพ่อค้า ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสังคมประเทศชาติบ้านเมือง นี่คือความพอเพียง เพราะมี คุณธรรม ๔ ประการ คือ
๑. รู้เหตุรู้ผล
๒. รู้ตน
๓. รู้จักประมาณ
๔. มีความสันโดษ
ส่วนผู้ใดจะมีคุณธรรมมากกว่านี้ ก็ขออนุโมทนา นี่คือ ความพอใจ ในสิ่งที่มี ที่ได้ ที่เป็น ผู้ใดมีคุณธรรมเหล่านี้จะมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงมีความสุขตามอัตภาพ