รู้จด รู้จำ รู้แจ้ง หมายความว่าอะไร และแตกต่างกันอย่างไร
รู้จด หมายความว่า ความรู้ที่ได้จากการจดบันทึกไว้
รู้จำ หมายความว่า ความรู้ที่ได้จากการฟัง หรือการอ่านตามตำรา แล้วจำได้
รู้แจ้ง หมายความว่า รู้จริงในสัจธรรมด้วยเหตุด้วยผล
๑. รู้จด หมายถึง การนำเรื่องราวที่ได้จด ได้บันทึกไว้ มาทบทวนให้เกิดความเข้าใจ อย่างถ่องแท้ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติตามคำสอน เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง รู้จริง ตามบทสอนนั้น ๆ
๒. รู้จำ หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการฟัง และการอ่าน แล้วจำคำสอนนั้นได้ นำมาพิจารณาไตร่ตรอง แล้วประพฤติปฏิบัติตามคำสอน เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง รู้จริงตามบทสอนนั้น ๆ
๓. รู้แจ้ง หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการจด การจำ การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จนเข้าใจ ความเป็นมา เป็นไป ของสัตว์โลก ทั้งหลาย ทั้งปวง ด้วยเหตุ ด้วยผล และสามารถพิสูจน์ได้ ที่เรียกว่า “สัจธรรม”
ตัวอย่างเช่น เราได้จดและจำคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า “สติ สัมปชัญญะ” ธรรมที่มีอุปการะมาก สติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว นำมาพิจารณาไตร่ตรอง แล้วปฏิบัติตามอยู่เป็นประจำ ท่านสอนให้เราระลึกได้ และรู้ตัวตลอดเวลา มีสติควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในครรลองคลองธรรม เช่น เราคิดอยากจะดื่มสุรา ถ้าขาดสติ สัมปชัญญะ ก็จะพากายไปซื้อสุรามาดื่ม อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียหลายประการ เช่น เสียทรัพย์สินเงินทอง ผิดศีล ผิดธรรม สามารถพูดชั่ว ทำชั่ว ได้ทุกอย่าง
แต่ถ้ามี สติ สัมปชัญญะ เมื่อคิดอยากดื่มสุรา เรามีสติ สัมปชัญญะ ระลึกได้และรู้ตัวว่า ความคิดนั้น ผิดครรลองคลองธรรม เกิดความเสื่อมเสีย เสียทรัพย์สิน เงินทอง เสียบุคลิก เสียสุขภาพ เสียสติปัญญา เสียชื่อเสียง และเสียชีวิตในที่สุด จึงไม่พากายไปซื้อสุรามาดื่ม ไม่พากายไปทำความชั่วต่าง ๆ เรียกว่ามี สติ สัมปชัญญะ จึงไม่มีความเสื่อมเสียใด ๆ เกิดขึ้น
การรู้จด รู้จำ แล้วนำมาปฏิบัติ จึงเกิด ความรู้แจ้ง ในพระธรรมคำสอน แต่ละบทดังที่กล่าวมานี้แล
บรรณานุกรม
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖