๙) ระวังจิต ระวังอารมณ์ ควรทำอย่างไร
คำว่า ระวัง หมายความว่า การคอยดูแล หรือเอาใจใส่ โดยไม่ประมาทหรือกันไว้ ไม่ให้เกิดอันตราย
คำว่า จิต หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด
๑. ระวังจิต หมายถึง การระวังความคิดต่าง ๆ ที่เกิดจากสิ่งที่มากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เมื่อตา มองเห็นรูป เกิดความพอใจรักใคร่ในรูปนั้น ๆ นี่คือ ความหลงครอบงำจิต ต่อมาคิดอยากได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน นี่คือความโลภ ครอบงำจิต แต่ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นมาตามที่ต้องการ ก็จะเกิดความไม่พอใจ นี่คือความโกรธ ครอบงำจิต
นี่เป็นลักษณะของจิตที่คิดตามอำนาจของกิเลส แม้กระทบเพียงอย่างเดียวก็เป็นทุกข์มากแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นประจำวัน ประจำเดือน ประจำปี ประจำชีวิต ของมนุษย์นั้น มีสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา ท่านลองพิจารณาดูซิว่า จะเกิดความทุกข์มากมายเพียงใด ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสอนให้ระวังจิต ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของกิเลส พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้สติปัญญา พิจารณาสิ่งที่จิตคิดเสมอๆ ว่าจิตคิดสิ่งใดผิด หรือถูก ชั่วหรือดี เป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ ถ้าจิตคิดชั่ว สติปัญญาก็จะคอยเตือนให้ระงับ ยับยั้งความคิดนั้น มิให้กาย วาจา ใจ ประกอบกรรมชั่วตาม ถ้าจิตคิดดีมีประโยชน์ สติปัญญาก็จะส่งเสริมให้กาย วาจา ใจ ประกอบกรรมดีนั้นต่อไป
นี่คือ การระวังจิตไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของกิเลส เพราะกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง ถ้าเรามีสติ มีปัญญา สามารถระวังจิตได้แล้ว จิตก็จะคลายทุกข์ ในที่สุด
๒. ระวังอารมณ์
อารมณ์ หมายความว่า ความรู้สึกที่พอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ กับสิ่งที่มากระทบ
ระวังอารมณ์ หมายความว่า ระวังความรู้สึก พอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ จากเรื่องที่จิตคิด ตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต จิตก็จะคิดตามอำนาจของกิเลส หรือปัญญา ที่จะทำให้เกิดอารมณ์ พอใจ หรือไม่พอใจขึ้น ขณะจิตอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส เป็นต้นว่า ได้ลาภ ยศ หรือทรัพย์สมบัติอื่นๆ ก็จะเกิดอารมณ์ ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นของตน มีความลุ่มหลงมัวเมา หวงแหน ถ้ามีใครมาแย่งชิงเอาไป ก็จะเกิดอารมณ์โกรธ อาฆาต พยาบาท ปองร้าย ถึงกับทำร้าย ทำลาย ชีวิตและทรัพย์สิน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ใช้สติ ปัญญา พิจารณาระวังอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่ออารมณ์ร้ายเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่สามารถระวังอารมณ์ได้ก็จะเกิดโทษ ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรามีสติปัญญา พิจารณาระงับ ยับยั้งอารมณ์อันรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ย่อมจะไม่เกิดโทษต่อตนเอง และผู้อื่น ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
เพราะฉะนั้น ลูกต้องระวังจิตให้คิดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ ในเมื่อจิตคิดดี กาย วาจา ก็จะประกอบกรรมดี ตามที่จิตคิด อารมณ์ก็จะดีตามไปด้วย ถ้าจิตคิดชั่ว กาย วาจา ก็จะประกอบกรรมชั่ว ดังที่เกิดขึ้นอยู่กับมนุษย์เราในปัจจุบันนี้ นี้คือ การระวังจิตระวังอารมณ์
อนึ่ง เมื่อจิตไม่มีกิเลสครอบงำ ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะมากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตก็จะไม่เกิดอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ จิตจะมีอารมณ์เดียวคือ อารมณ์อุเบกขา วางเฉยไม่ดีใจและไม่เสียใจ เพราะมีปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์
บรรณานุกรม
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖