ท่านรู้จักตนเองว่ามีกิเลสหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างไร
( ความโลภ )
มนุษย์ส่วนมากที่ยังไม่รู้จักว่าตนเองมีกิเลส แล้วเป็นเหตุให้เกิดโทษอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความโลภเกิดขึ้น ทำให้มีความรู้สึกอยากได้ สิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตนเช่นอยากได้ทรัพย์สมบัติ เงินทอง อยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากได้คำสรรเสริญเยินยอ อยากมีความสุข ก็พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน กระวนกระวาย จะทุกข์ยากอย่างไรก็ยอม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งต่าง ๆ นั้นมาเป็นของตน จะผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณีก็ตาม เพราะทำตามอำนาจของความโลภ ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ในขณะนั้น โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น กับตนเองและผู้อื่น ดังที่มนุษย์ในโลกนี้ทำตามอำนาจของความโลภ จนเกิดความเดือดร้อนขึ้นทั้งโลก โดยที่มนุษย์เหล่านั้น ไม่ทราบว่าความโลภเป็น “กิเลส” กลับคิดว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป ที่ต้องมีความอยากได้สิ่งต่าง ๆ เป็นพื้นฐานของจิตใจ
ผู้ใดมีความโลภมาก ก็อยากได้ทรัพย์สมบัติมากมายมาเป็นของตน เพื่อตนเองจะได้ร่ำรวย เป็นผู้มีทรัพย์มากเหนือผู้อื่น ก็พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน กระวนกระวาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพื่อให้ได้ทรัพย์เหล่านั้นมาเป็นของตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณีก็ตาม เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ตามมามากมาย นี้คืออำนาจของกิเลส ความโลภอย่างหยาบ โดยที่มนุษย์ทั่วไปไม่เข้าใจว่า ความโลภเป็นกิเลส กลับคิดว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่มีความรู้สึกอยากร่ำรวยเป็นพื้นฐานของจิตใจ ที่ทุก ๆ คนมีเหมือนกันมาตั้งแต่เกิด นี้คือกิเลส ความโลภอย่างหยาบที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์ทุกคน
ผู้ใดมีความโลภปานกลาง ก็จะอยากได้ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ไม่มากนัก การดิ้นรนไขว่คว้าหาสิ่งเหล่านั้นก็น้อย ทุกข์ก็น้อยลง นี้คืออำนาจของกิเลส ความโลภอย่างกลาง
ผู้ใดมีความโลภเพียงเล็กน้อย ก็ยังมีความรู้สึกคิดอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง เช่นเดียวกัน แต่ไม่ดิ้นรน กระวนกระวาย ไขว่คว้ามาเป็นของตน มีความรู้สึกเพียงว่าได้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร ความทุกข์ก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีความคิดที่จะไปทำผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณีแต่อย่างใด เพราะอำนาจของกิเลสความโลภ ที่ครอบงำจิตใจมีน้อย จึงไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น นี่คืออำนาจของกิเลส ความโลภอย่างละเอียด เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านจงสำรวจตนเองดูเถิดว่า ท่านมีความรู้สึกอยากได้มากหรืออยากได้น้อย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จงทราบเถิดว่าท่านมีกิเลส ความโลภ ครอบงำจิตใจของท่านแล้ว จงพยายามหาทางชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ความทุกข์ที่มีก็จะน้อยลง โดยการศึกษาพระธรรมคำสอนและนำมาประพฤติปฏิบัติตาม แล้วท่านจะมีความสุขตลอดไป
( ความโกรธ )
มนุษย์ส่วนมากที่ยังไม่รู้จักว่าตนเองมีกิเลส แล้วเป็นเหตุให้เกิดโทษอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น ทำให้มีความรู้สึกอยากฆ่า อยากทำร้าย ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคู่กรณี ให้พินาศ ย่อยยับ ดับสิ้นไป ตามอำนาจของความโกรธ ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ในขณะนั้น โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น กับตนเองและผู้อื่น ดังที่มนุษย์ในโลกนี้ทำตามอำนาจของความโกรธ จนเกิดความเดือดร้อนขึ้นทั้งโลก โดยที่มนุษย์เหล่านั้น ไม่ทราบว่าความโกรธคือ “กิเลส” กลับคิดว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป ที่ต้องมีความโกรธเป็นพื้นฐานของจิต
ถ้ามีความโกรธน้อย ก็อยากทุบตี ด่าว่าคู่กรณี ให้เจ็บกายเจ็บใจ เพื่อให้เกิดความสะใจของตนเอง ตามอำนาจของความโกรธ ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ในขณะนั้น โดยไม่คำนึงถึงความอับอายขายหน้าของตนเองและผู้อื่น และยังคิดว่า เป็นธรรมดาของมนุษย์ โดยไม่ทราบว่าความโกรธนั้นคือกิเลส นี้คืออาการของผู้ที่มีกิเลส ความโกรธ ครอบงำจิตใจ โดยที่ไม่เข้าใจว่าความโกรธคือกิเลส ได้ครอบงำจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา นี้คือตัวอย่างของความโกรธซึ่งเป็นกิเลสข้อหนึ่งในสามข้อ ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า กิเลสมีสามอย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ผู้ใดเกิดความรู้สึกโกรธมากหรือโกรธน้อย ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว จงรู้เถิดว่าผู้นั้นมีกิเลส ความโกรธอยู่ในสันดานอย่างแน่นอน กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อรู้ตัวดีแล้วว่ามีกิเลส ก็ต้องชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ความทุกข์จากความโกรธก็จะหมดสิ้นไปด้วย
อนึ่งผู้ที่ไม่มีความโกรธ หมายถึง พระอริยะทั้งหลาย ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแล้ว ส่วนมนุษย์ทั่วไปที่ยังมีความโกรธอยู่ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ฉะนั้นทุกคนควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดีว่า ตัวเรามีกิเลสจริงหรือไม่ นี้คือวิธีพิจารณาให้ตนเองเห็น ความโกรธ ที่มีอยู่ในจิตใจของเราว่าเป็น กิเลส
แต่ผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน จากคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่มีสติปัญญาดี แล้ว เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ก็สามารถระงับยับยั้งได้ เช่น เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมา จากเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม ผู้ที่มีสติปัญญาดี ก็จะคิดพิจารณาได้ว่า ถ้าเราทำตามอำนาจของความโกรธ ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้แล้ว จิตก็จะหยุด ไม่คิดฆ่า ไม่คิดทำร้ายทำลาย ไม่คิดตบตีด่าว่าให้ผู้ใดเสียอกเสียใจ ความเดือดร้อนก็จะไม่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น ความทุกข์ก็จะคลายลง นี้คือผู้ที่มีสติปัญญาดีครอบงำจิตใจ จึงไม่สามารถทำความชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ ได้ เพราะจิตใจไม่ตกเป็นทาสของกิเลส นั้นเอง
( ความหลง )
มนุษย์ส่วนมากที่ยังไม่รู้จักว่าตนเองมีกิเลส แล้วเป็นเหตุให้เกิดโทษอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความรู้สึกพอใจ รักใคร่ ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และพอใจใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วมีความรู้สึกอยากได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตนนี้คือกิเลส ความหลงได้ครอบงำจิตใจของท่านแล้ว
ความหลงหมายถึง ความเข้าใจผิด คิดว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้มนุษย์อย่างแท้จริง ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น เช่น พอใจรักใคร่ในสามีภรรยา เป็นความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นความสุข ต่อมาอีกไม่นานนัก มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นเหตุให้สามีภรรยา ต้องทะเลาะวิวาทและแตกแยกกัน ก็เกิดความทุกข์ทันที ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับมนุษย์ทั่วไป เพราะความเข้าใจผิดว่า เมื่อมีสามีภรรยาแล้ว จะเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่แท้จริงคือเป็นทุกข์จนตายจากกัน นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความหลง
หรือมีความพอใจ ในทรัพย์สินเงินทอง ในยศถาบรรดาศักดิ์ ก็จะมีความรู้สึกเป็นสุขใจ เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา ให้มนุษย์มีชื่อเสียง มีผู้คนเคารพนับถือ ว่าเป็นผู้ที่มีความพิเศษเหนือผู้อื่น เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ตรัสสอนไว้ว่า มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขย่อมมีทุกข์ เป็นของคู่กัน คำสอนบทนี้เรียกว่า “โลกธรรม ๘” มีความรักใคร่พอใจในสิ่งใด ๆ ก็จะมีความทุกข์กับสิ่งนั้น ๆ อย่างแน่นอนเป็นสัจธรรม เช่นพอใจรักใคร่ในลูก ก็ทุกข์เพราะลูก กลัวว่าลูกจะเป็นคนเลว ไม่ได้ดีมีสุข หรือมีความพอใจในบ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นสุข แต่ความทุกข์ก็ตามมา เพราะกลัวว่าบ้านจะต้องผุพังและสูญสลายไปตามกาลเวลา
มีความพอใจในยศถาบรรดาศักดิ์ ก็เป็นสุขในขณะนั้น แต่ความทุกข์ก็ตามมา เพราะกลัวว่า ยศถาบรรดาศักดิ์เหล่านั้นจะเสื่อมไปจากตน นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลงเข้าใจผิดว่า เป็นความสุขที่แท้จริง มีความพอใจในรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ก็ทุกข์เพราะรถเหล่านั้น มีความพอใจในเรือกสวนไร่นา ก็เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะพอใจในสิ่งใด ๆ จะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ผู้ใดหลงพอใจ รักใคร่ในสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ ให้รู้ตัวเถิดว่า นี้คือกิเลสความหลงได้ครอบงำจิตใจของท่านแล้ว ขอให้ท่านศึกษาหาความรู้จากคำสอนของพระพทุธองค์ เพื่อชำระกิเลส ความหลงนี้ให้หมดไปจากจิตใจ
อนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “จงมีความสันโดษเป็นสันดาน” คือมีความพอใจ ในสิ่งที่มี ที่ได้ ที่เป็น ถึงจะมีมากน้อยแค่ไหนเพียงใดก็ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาว่าเป็นสิ่งวิเศษสุดสำหรับชีวิตมนุษย์
ขอทุกท่านจงพิจารณาว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ท่านมีกิเลสข้อใดมาก ข้อใดน้อยก็ตาม ขอจงตั้งใจ ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไป ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าทุกอย่าง เป็น “อนิจจัง” ไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา “ทุกขัง” คือความทุกข์ มีทุกอย่าง มีทรัพย์สมบัติ หรือมีตัวตนก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น “อนัตตา” คือความสูญสลายของสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ แม้ตัวเราก็จะต้องกลายเป็นเถ้าถ่านในที่สุด พระพุทธองค์ จึงตรัสสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเราเขา ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา และทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่ใช่ของใคร เราจะเห็นได้ว่า ทุกคนเมื่อตายไปแล้วเอาสิ่งใด ๆ ไปไม่ได้เลย นอกจากกรรมดี และกรรมชั่ว ที่ทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น จะติดตัวตามตนไปทุกชาติ ๆ
เพราะฉะนั้น ขอวิงวอนให้ท่านทั้งหลายจงพยายาม ชำระ กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ความทุกข์จะได้หมดไปในที่สุด เข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้น มีความสุขชั่วนิจนิรันดร ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป
ท้ายนี้แม่ขออัญเชิญ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และเทพเทวาทั้งหลาย จงปกปักรักษา ลูก ๆ ของแม่ ให้มีความสุข ความเจริญ พ้นจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ และอันตรายต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ลูกปรารถนาสิ่งใดในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ ขอให้ลูกมีมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ขอให้ลูก มีปัญญาอันเป็นเลิศ มีดวงตาเห็นธรรม ปฏิบัติธรรม ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนสำเร็จมรรคผลนิพพาน เข้าสู่แดนวิมุต หลุดพ้น ในชาตินี้ด้วยกัน...ทุก ๆ คน...นะลูกนะ...