จักร ๔ (วงล้อแห่งพระธรรมที่นำไปสู่ความเจริญ ๔ อย่าง)
๑. อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. คบสัตบุรุษ
๓. ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน
ธรรม ๔ อย่างนี้ เปรียบเหมือนวงล้อที่หมุนรอบ นำไปสู่ความเจริญ
๑. อยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึงอยู่ในถิ่นที่มีคนดี มีสถานศึกษาดี เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้สะดวก เหมาะแก่ความเป็นอยู่ของตน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี หมายถึงในสังคมนั้น ไม่มีอบายมุข ทุกคนในครอบครัวเป็นคนดี มีศีลมีธรรมประจำ กาย วาจา ใจ มีอาชีพที่สุจริต ไม่ประพฤติผิดกฎหมาย ไม่ผิดครรลองคลองธรรม ไม่ผิดจารีตประเพณี ผู้ใดที่ได้อยู่ในสังคมหรือครอบครัว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ถือได้ว่าอยู่ในประเทศอันสมควร จะนำไปสู่ความเจริญในภายภาคหน้า
อยู่ในประเทศอันไม่สมควร หมายถึงอยู่ในถิ่นที่มีคนชั่ว ไม่มีสถานศึกษาที่ดี ที่จะให้ความรู้ในการประกอบอาชีพได้ ไม่เหมาะแก่ความเป็นอยู่ของตน มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี มีอบายมุขทุชนิด ทุกคนในครอบครัวเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรม ประจำกาย วาจา ใจ มีอาชีพที่ทุจริตแต่สิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ผู้ใดอยู่ในสังคมหรือครอบครัว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ถือว่า บุคคลเหล่านั้นอยู่ในประเทศอันไม่สมควร มีแต่ความเสื่อม ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและครอบครัว
๒. คบสัตบุรุษ สัตบุรุษในที่นี้ หมายถึงผู้มีคุณธรรมสูง มีความรู้จริงทั้งทางโลกและทางธรรม ด้วยการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า จนรู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี คุณสมบัติของสัตบุรุษมี ๗ ประการคือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล
๑) รู้เหตุ หมายถึง เป็นผู้รู้จักเหตุของการเกิดทุกข์ และรู้จักเหตุของการเกิดสุข
เป็นผู้รู้จักเหตุของการเกิดทุกข์ หมายถึง รู้จักว่าเหตุใด เมื่อคิด เมื่อพูด เมื่อทำแล้ว ทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เช่นเมื่อคิดจะฆ่าคนก็เป็นทุกข์ทางใจ เมื่อพูดว่าจะไปฆ่าคนก็เป็นทุกข์ทางวาจา เมื่อนำกายไปฆ่าคนก็เกิดทุกข์ทั้งกาย วาจา ใจ อีกตัวอย่างหนึ่งไปปล้น จี้ พูดปด หลอกลวง ทุจริตคดโกง เอาทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่นมาเป็นของตน สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น นี้คือเหตุของการเกิดทุกข์ และยังมีเหตุอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ผู้ใดที่รู้จักเหตุของการเกิดทุกข์แล้ว ก็ไม่ควรสร้างเหตุของการเกิดทุกข์อีกต่อไป นี้คือคุณสมบัติของสัตบุรุษ
เป็นผู้รู้จักเหตุของการเกิดสุข หมายถึง การทำความดี ด้วยกาย วาจา ใจ เช่นคิดว่าพรุ่งนี้จะทำบุญตักบาตรก็มีความสุขทางใจ เมื่อได้พูดว่าจะนำสิ่งของต่าง ๆ ไปใส่บาตร ก็มีความสุขทางวาจา เมื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้ไปใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว ก็จะเกิดความสุขทั้งกาย วาจา ใจ หรือนำทรัพย์สินเงินทองไปบริจาค สร้างวัด โบสถ์ วิหาร โรงพยาบาล ถนน สะพาน โรงเรียนและสาธารณประโยชน์อื่น ๆ หรือแบ่งปัน ทรัพย์สินเงินทอง ให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการเป็นต้น นี้คือเหตุของการเกิดสุข และยังมีเหตุอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดสุข ผู้ใดรู้จักเหตุของการเกิดสุขแล้ว ก็ควรสร้างเหตุนั้นต่อไป นี้คือคุณสมบัติของสัตบุรุษ
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักเหตุของการเกิดทุกข์ และรู้จักเหตุของการสุขแล้ว ผู้ที่เป็นสัตบุรุษย่อมสร้างแต่เหตุของการเกิดสุขเท่านั้น
๒) รู้ผล หมายถึงเป็นผู้รู้จักผลของการเกิดทุกข์ และรู้จักผลของการเกิดสุข
เป็นผู้รู้จักผลของการเกิดทุกข์ หมายถึง ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมาจากการทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ เช่น ฆ่าคน ปล้น จี้ พูดปด หลอกลวง ทุจริต คดโกง แล้วเกิดความทุกข์ เป็นผลมาจากการทำความชั่ว นี้คือเป็นผู้รู้จักผลของการเกิดทุกข์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
เป็นผู้รู้จักผลของการเกิดสุข หมายถึงผู้ที่รู้ว่า ผลที่เราได้รับความสุขกาย สุขใจ มาจากเหตุของการคิดดี พูดดี ทำดี เมื่อเป็นผู้รู้จักผลของความสุข ก็จะตั้งใจสร้างแต่ความดีทั้งกาย วาจา ใจ หรือที่เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต นี้คือเป็นผู้รู้ผลของการเกิดสุข ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
๓) เป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ผู้ที่รู้จักตนว่า อยู่ในชาติตระกูลใด ยศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด มีทรัพย์สมบัติ มีบริวาร มีความรู้ และมีคุณธรรมอยู่ในระดับใด ควรต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ถูกต้องตามจารีตประเพณี ไม่ประพฤติตนให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูล ไม่อวดดื้อถือดีจนดูเป็นคนหยิ่งยโส ไม่คิดเห่อเหิมทะเยอทะยานเกินฐานะ นี้คือผู้รู้จักตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
ผู้ที่ไม่รู้จักตน หมายถึงผู้ที่ไม่รู้จักตนเองว่า ตนเองมีชาติตระกูล ยศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด เป็นคนอวดดื้อถือดี หยิ่งยโสโอหัง เห่อเหิมทะเยอทะยาน ประพฤติตนผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี นี้คือผู้ไม่รู้จักตน ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของสัตบุรุษ
๔) เป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง รู้จักความพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไปในทุกเรื่อง เช่น รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร รู้จักประมาณในการใช้จ่ายเงินทอง รู้จักประมาณในการแต่งกาย รู้จักประมาณในที่อยู่อาศัย รู้จักประมาณในการทำมาหากิน ตามกำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ กำลังกาย ไม่ทำกิจการใด ๆ ที่เกินตัว นี้คือการรู้จักประมาณ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
ผู้ที่ไม่รู้จักประมาณ หมายถึง ผู้ที่ทำอะไรเกินตัว เกินฐานะ เกินกำลัง เช่นการรับประทานอาหาร การใช้จ่ายเงินทอง การแต่งกาย เกินฐานะความเป็นจริงของตน ที่อยู่อาศัย ที่มีอยู่แล้วก็ไม่รู้จักพอ มีบ้านหนึ่งหลังแล้วก็อยากมีหลาย ๆ หลัง มีรถหนึ่งคันก็ไม่พอ อยากมีหลาย ๆ คัน จนหนี้สินล้นพ้นตัว บางคนมีภรรยา หนึ่งคนยังไม่พอ อยากมีภรรยาหลาย ๆ คน ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคม นี้คือผู้ไม่รู้จักประมาณ ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของสัตบุรุษ
๕) ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา หมายถึงรู้จักคุณค่าของเวลาที่ผ่านไป รู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่นผู้ที่รับราชการก็ควรไปทำงานให้ตรงเวลา ในขณะทำงานก็ตั้งใจทำงาน ไม่ใช้เวลาราชการเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน ไม่เลิกงานก่อนเวลา ความเจริญในหน้าที่การงานก็จะเกิดขึ้น นี้คือผู้รู้จักกาลเวลา ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
ผู้ที่ไม่รู้จักกาลเวลา หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของเวลา ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ เช่น บางคนเอาเวลางาน ไปเล่นการพนัน ผู้ที่รับราชการ ไปทำงานสาย ในขณะทำงานก็ไม่ตั้งใจทำงาน ใช้เวลาราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน เลิกงานก่อนเวลา ทำให้ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เกิดความเสื่อมเสียในหน่วยงานราชการ และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ข้าราชการทั่วไป อีกตัวอย่างหนึ่ง นักการเมือง ไม่เข้าประชุมสภา ใช้เวลาราชการไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ใช้อำนาจหน้าที่ในการทุจริตคดโกง งบประมาณแผ่นดิน เพื่อตนเอง และพวกพ้องบริวาร นี้คือผู้ไม่รู้จักกาลเวลา ไม่ใช่คุณสมบัติของสัตบุรุษซึ่งเกิดขึ้นแล้วในสภาปัจจุบัน
๖) ความเป็นผู้รู้จักชุมชน ชุมชนในที่นี้หมายถึง กลุ่มชนที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในเขตเดียวกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นผู้รู้จักชุมชนหมายถึง รู้จักชุมชนที่ตนอยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และสังคมที่ตนต้องเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ ว่าเป็นอย่างไร เช่น คนในชุมชนใส่บาตรทุกเช้า วันพระก็ไปวัดฟังธรรม ช่วยกันทำความสะอาด ถนนหนทาง และสถานที่สาธารณอื่น ๆ เป็นต้น มีความรักใคร่สามัคคี ปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราก็ควรเลือกอยู่ในชุมชนนั้น นี้คือผู้รู้จักชุมชน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
ผู้ไม่รู้จักชุมชน หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้จักชุมชนที่ตนอยู่อาศัย ไม่รู้จักสถานที่ทำงาน ไม่รู้จักสังคมที่ ตนต้องเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ ว่าเป็นอย่างไร เช่น ชุมชนนั้นมีอบายมุข ดื่มสุรา ค้ายาเสพติด เป็นนักเลงการพนัน เป็นนักเลงผู้หญิง เป็นมือปืนรับจ้าง เป็นโจร ปล้นจี้ ฉกชิงวิ่งราว หรือในสภาที่มีนักการเมืองที่ไม่ดี นี้คือผู้ที่ไม่รู้จักชุมชน ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของสัตบุรุษ ดังสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า “สัตบุรุษไม่มีในชุมชนใด ชุมชนนั้นไม่ชื่อว่าสภา”
๗) เป็นผู้รู้จักบุคคล หมายถึงการรู้จักเลือกคบคนดี ด้วยการศึกษาอุปนิสัย ใจคอ ความประพฤติเป็นต้น เช่น เราควรคบค้าสมาคมผู้ที่มีความประพฤติดี มีน้ำใจดี มีศีลมีธรรม มีความกตัญญูรู้คุณ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเหตุ มีผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล นี้คือบุคคลที่ดี ควรคบค้าสมาคมด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ
เป็นผู้ที่ไม่รู้จักบุคคล ในที่นี้ หมายถึงการคบคนชั่วเป็นมิตร คือคนที่มีความประพฤติชั่ว คนที่ชอบดื่มสุรา เสพยาเสพติด นักเลงผู้หญิง นักเลงการพนัน ทุจริตคดโกง จี้ปล้น ฉกชิงวิ่งราว และขาดคุณธรรมทั้ง ๗ ประการ คือ ไมรู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้จักตน ไม่รู้จักประมาณ ไม่รู้จักกาลเวลา ไม่รู้จักชุมชน ไม่รู้จักบุคคล เป็นต้น นี้คือบุคคลที่ไม่ควรคบค้าสมาคมด้วย ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของสัตบุรุษ
ขอให้ทุกท่านพิจารณาว่า ตัวท่านเองได้พบกับสัตบุรุษแล้วหรือยัง หรือตัวท่านมีคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่ ถ้าไม่มีขอให้ท่านศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องนี้ให้ชัดเจน แล้วท่านจะได้มีคุณสมบัติของสัตบุรุษ เป็นผู้มีคุณธรรมทั้ง ๗ ประการโดยสมบูรณ์ ถ้าผู้ใดมีแล้วก็ขอให้รักษาคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้ต่อไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและครอบครัว
๓. ตั้งตนไว้ชอบ หมายถึง การตั้งกาย วาจา ใจ ไว้ในทางที่ถูกต้อง
การตั้งกายไว้ชอบ หมายถึง จะไม่นำกายไปประพฤติผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี จะมีสติปัญญาควบคุมกาย ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและหน้าที่ของตน ไม่ทำตนให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติบ้านเมือง นี้คือการตั้งกายไว้ชอบ
การตั้งวาจาไว้ชอบ หมายถึง จะพูดแต่เรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่พูดปด หลอกลวง ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ให้ระคายเคืองต่อจิตใจของผู้อื่น ให้เกิดความเดือดร้อนกับคนทั่วไป จะพูดแนะนำตักเตือนผู้อื่น ให้ละชั่วประพฤติดี ปฏิบัติตนให้ถูกกฎหมาย ถูกครรลองคลองธรรม ถูกจารีตประเพณี เพื่อให้อยู่ร่วมกันในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม อย่างสงบสุข นี้คือการตั้งวาจาไว้ชอบ
การตั้งใจไว้ชอบ หมายถึง ตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ตั้งใจให้ทาน ตั้งใจนำศีลมารักษา กาย วาจา ตั้งใจเจริญสมาธิวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติของสัตว์โลก ตั้งใจละชั่วประพฤติดี และชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้ง ๓ อย่าง คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ นี้คือการตั้งใจไว้ชอบ ดังนั้นการตั้งกาย วาจา ใจไว้ชอบ หรือที่เรียกว่า “ตั้งตนไว้ชอบ” ผู้ใดปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จะมีเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและครอบครัวตลอดไป
การตั้งตนไว้ไม่ชอบ หมายถึง การตั้งกาย วาจา ใจ ไว้ในทางที่ผิด เช่น ประพฤติผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ขาดศีล ขาดธรรม ไม่มีคุณธรรมประจำใจทั้ง ๕ ประการคือ
๑) ฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ เบียดเบียนสัตว์
๒) ลักทรัพย์ ทุจริตคดโกง ปล้นจี้ ฉกชิงวิ่งราว
๓) ประพฤติผิดในกาม เป็นชู้สู่สมกับสามี หรือภรรยาผู้อื่น
๔) พูดปดหลอกลวง พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
๕) ดื่มสุรา เครื่องดองของเมา หรือเสพยาเสพติดให้โทษ
คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้บาป บุญคุณโทษ ไม่รู้ผิดถูก ชั่วดี ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ในรูป รส เสียง กลิ่น สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นนักเลงการพนัน นักเลงผู้หญิง นักเลงสุรา นักเลงเที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเอง ครอบครัว ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และสังคมประเทศชาติบ้านเมือง นี้คือผู้ที่ตั้งตนไว้ไม่ชอบ จะไม่มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและครอบครัว
๔. ความเป็นผู้ทำความดีไว้แต่ปางก่อน หมายถึง ผู้ที่มีบุญหรือความดีที่เราทำไว้ในอดีตชาติ เช่นผู้ที่ให้ทานมามากในอดีตชาติ เกิดมาชาตินี้บุญจะส่งให้เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก ถ้าชาตินี้ได้ให้ทานเพิ่มขึ้นอีก บุญก็จะส่งเสริมให้มีทรัพย์สมบัติมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้มีทรัพย์สมบัติในชาติต่อ ๆ ไป ผู้ใดเคยนำศีลมารักษา กาย วาจา มากในอดีตชาติ เกิดมาชาตินี้บุญจะส่งผลให้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม ถ้าชาตินี้ได้นำศีล มารักษา กาย วาจา เพิ่มขึ้นอีก ก็จะส่งเสริมให้ผู้นั้นมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงามในชาติต่อ ๆ ไป ผู้ใดเจริญสมาธิวิปัสสนามามากในอดีตชาติ เกิดมาชาตินี้บุญส่งผลให้เป็นผู้มีสติปัญญาดี รู้ผิด ถูก ชั่วดี รู้บาป บุญ คุณโทษ ถ้าชาตินี้เจริญสมาธิวิปัสสนามาก บุญก็จะส่งผลให้เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้มีสติปัญญาดีในชาติต่อ ๆ ไป นี้คือผลบุญที่ได้ทำความดีไว้ในชาติปางก่อน หรืออดีตชาติ
ผู้ใดมีจักร ๔ อันประกอบด้วย
๑. อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. คบสัตบุรุษ
๓. ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน
เรียกว่า จักรธรรม เพราะเป็นธรรมที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของตนเองครอบครัว และสังคมประเทศชาติบ้านเมืองสืบต่อไป เปรียบเหมือนล้อรถหรือล้อเกวียน ที่นำพาหนะไปสู่จุดหมายปลายทาง
ขอให้ท่านพิจารณาตัวท่านเองเถิดว่า ท่านอยู่ในจักรทั้ง ๔ นี้หรือไม่ คือ อยู่ในประเทศที่สมควร คบสัตบุรุษ ตั้งตนไว้ชอบ ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน แล้วหรือยัง ถ้ายังขอให้ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เพื่อท่านจะได้อยู่ในจักร ๔ ในชาติต่อ ๆ ไป