ความจริงอันประเสริฐที่ควรรู้ ๔ ประการ
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก
๒. สมุทัย คือ เหตุของการเกิดทุกข์ ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ได้ชื่อว่าสมุทัย เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหามี ๓ ประเภท คือ
๑. ตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ เรียกว่า กามตัณหา
๒. ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่า ภวตัณหา
๓. ตัณหาความไม่อยากเป็นโน่นไม่อยากเป็นนี่ เรียกว่า วิภวตัณหา
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์ ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมด ได้ชื่อว่านิโรธ เพราะเป็นความดับตัณหา
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ปัญญาอันรู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ชื่อว่ามรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อริยสัจ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่พ้นจากข้าศึก คือกิเลส ความจริงที่ทำให้บุคคลเป็นอริยะ
๑. ทุกข์ หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
ทุกข์ประจำ คือทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์เพราะมีร่างกาย ทุกข์เพราะหิว ทุกข์เพราะอิ่ม ทุกข์เพราะต้องขับถ่าย ทุกข์เพราะร้อน ทุกข์เพราะหนาว ทุกข์เพราะนั่ง นอน ยืน เดิน นี่คือ ทุกข์ประจำ
ทุกข์จร คือทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ได้แก่ การเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ เช่น ร่างกายเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นทุกข์ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการก็เป็นทุกข์ ความประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์ เป็นต้น นี่คือ ทุกข์จร
๑.๑ ทุกข์ประจำ หมายถึง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์ มีร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มีดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และมีอาการ ๓๒ คือ อวัยวะต่าง ๆในร่างกาย ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร เยื่อสมองศีรษะ สิ่งเหล่านี้ต้องนำปัจจัย ๔ มาดูแลร่างกาย เช่น ต้องหาอาหารต่าง ๆ มาเลี้ยงธาตุ และอาการ ๓๒ ให้เจริญเติบโต ต้องหาเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มมาห่อหุ้มร่างกาย ให้พ้นจากความร้อน ความหนาว และอันตรายจากสัตว์ เช่นแมลง ยุง หรือสัตว์มีพิษต่าง ๆ เป็นต้น ต้องหายามารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และต้องหาที่อยู่อาศัย เพื่อให้พ้นจากแดดฝนและภัยจากสัตว์ต่าง ๆ นี่คือทุกข์ประจำ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกข์ เป็นธรรมชาติ หรือธรรมดาของมนุษย์เท่านั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่าเป็นทุกข์ประจำ จึงตรัสสอนให้พุทธศาสนิกชน เข้าใจในทุกข์เหล่านี้ เพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ลุ่มหลงมัวเมาในตัวตน ว่าเป็นผู้วิเศษเหนือกว่าผู้อื่น นี่คือทุกข์ประจำ
๑.๒ ทุกข์จร หมายถึง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น การเจ็บป่วยร่างกาย ความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสีย สิ่งที่เรารักใคร่พอใจ เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง หรือคนที่เรารักตาย หรือสูญเสียทรัพย์สมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไฟไหม้บ้าน รถเกิดอุบัติเหตุ แขนขาด ขาขาด ถูกโจรจี้ปล้น ลักขโมยทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ มีความคับแค้นใจ น้อยใจ เมื่อประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับมนุษย์และสัตว์ในโลกนี้ นี่คือทุกข์จร
๒. สมุทัย หมายถึง เหตุของการเกิดทุกข์มี ๓ อย่าง คือ
๑. กามตัณหา
๒. ภวตัณหา
๓. วิภวตัณหา
๑) กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก ลุ่มหลงมัวเมาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ และหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นรูป ก็เกิดความรักใคร่พอใจในรูปนั้น ๆ ชายหนุ่มและหญิงสาว เมื่อเห็นกันก็เกิดความรักใคร่พอใจ อยากเป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน นี้คือเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ เข้าใจว่าอยู่ร่วมกันแล้วจะมีความสุข อันที่จริงแล้วเป็นต้นเหตุของการเกิดทุกข์ คือหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ เกิดความหึงหวงกันขึ้น อาจจะมีการทะเลาะวิวาทตามมา เมื่อมีลูกความทุกข์ก็มากขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู กว่าลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องใช้เวลายาวนาน และมีความห่วงใย จนกว่าจะตายจากกัน แม้ตายจากกันแล้วก็ยังห่วงหาอาทร พร่ำเพ้อรำพันว่า ขอให้พบกันทุกชาติ ๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ตามองเห็นสิ่งของที่สวยงาม เช่น เห็นแก้วแหงน เงินทอง เห็นบ้านเรือนที่สวยงาม เห็นรถยนต์ยี่ห้อที่ถูกใจ และสิ่งอื่นๆ ที่ตามองเห็น ก็เกิดความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๆ นี่คือเหตุของการเกิดทุกข์ทางตา เพราะลุ่มหลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่นว่า ถ้ามีสมบัติมากมายจะเป็นสุข และเป็นผู้ที่วิเศษเหนือกว่าผู้อื่น นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากตาเห็นรูป
ความลุ่มหลงมัวเมาในเสียง หมายถึง เมื่อได้ยินเสียงยกย่องสรรเสริญก็เกิดความพอใจ เช่นได้ยินคำว่าคุณหล่อ คุณสวย คุณรวย คุณดี คุณเด่น คุณมีเสน่ห์กว่าใคร ๆ คุณน่ารักที่สุด ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะหลงใหลพอใจในสียงนั้น ๆ เกิดความลุ่มหลงมัวเมา อยากได้ยินได้ฟังอีก ไม่อยากได้ยินได้ฟังเสียงที่ไม่ไพเราะ ถูกตำหนิติเตียน ด่าทอ ก็เกิดความไม่พอใจ นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในเสียง เป็นเหตุของการเกิดทุกข์
ความลุ่มหลงมัวเมาในกลิ่น หมายถึง เมื่อจมูกได้กลิ่นหอม จากเครื่องย้อม เครื่องทาต่าง ๆ มีน้ำหอม น้ำมันใส่ผม แป้ง สบู่ หรือครีมบำรุงผิวพรรณ ให้สวยให้งามเป็นต้น ก็เกิดความพอใจ อยากได้มาเป็นของตน ผู้ที่มีเงินถ้าหาซื้อไม่ได้ดังใจก็เป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่มีเงินก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อหาซื้อสิ่งที่ต้องการ เมื่อได้มาแล้วก็เป็นทุกข์ เพราะต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตต่าง ๆ นี่คือกลิ่นหอมเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ถ้าจมูกกลิ่นเหม็นก็เป็นทุกข์ เช่น เมื่อจมูกได้กลิ่นเหม็น เกิดความไม่พอใจในกลิ่นนั้น ก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน
ความลุ่มหลงมัวเมาในรสอาหาร หมายถึง ผู้ที่ติดในรสอาหารอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือ หลาย ๆ อย่าง เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ก็จะต้องดิ้นรน เสาะแสวงหาอาหารที่ตนชอบ ถึงแม้จะอยู่ไกล ราคาจะแพงเท่าใดก็ตาม ก็ยินดีเสียเงิน เพื่อให้ได้อาหารที่มีรสชาติถูกลิ้น ถึงแม้จะเป็นหนี้เป็นสินก็ยอม นี่เป็นความลุ่มหลงมัวเมาในรสอาหาร อันที่จริงแล้วจะรับประทานมื้อละ ๕๐ บาท หรือมื้อละ ๑๐๐๐ บาท ก็อิ่มเช่นเดียวกัน นี่คือความลุ่มหลงมัวเมาในรสอาหาร ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์
ความลุ่มหลงมัวเมาในรสสัมผัส หมายถึง การสัมผัสทางกาย เช่นสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง บางคนเมื่อถูกกระทบก็มีความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ หรือการเสพกามของหญิงและชาย ที่มีความต้องการเสพกาม ก็จะแสวงหาคู่ที่ถูกใจ มาร่วมเสพกามกัน แล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของกันและกัน เกิดความหึงหวง เพราะติดอยู่ในรสกามรมณ์ นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากการสัมผัส
ความลุ่มหลงมัวเมาในธรรมารมณ์ หมายถึง ธรรมชาติของจิต ที่มีหน้าที่คิดตามสิ่งที่มากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะเกิดอารมณ์หวั่นไหว พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง หรือเฉย ๆ เป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่ครอบงำจิต คือความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่น ตามองเห็นรูปต่าง ๆ ที่สวยงาม เกิดความหลงรักใคร่พอใจ ก็เกิดความอยากได้ เพราะมีความโลภ จึงเสาะแสวงหาสิ่งนั้น ๆ มาเป็นของตน ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็จะเกิดความไม่พอใจ คือความโกรธเป็นอารมณ์ นี่คือ ธรรมชาติของจิตที่หวั่นไหว ไปตามอำนาจของสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง เฉย ๆ บ้าง เรียกว่า ธรรมารมณ์
๒. ภวตัณหา เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ หมายถึงความรู้สึกอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น เช่น อยากได้สามี ภรรยา อยากมีลูก อยากรวย อยากได้บ้าน อยากมีบ้านหลาย ๆ หลัง อยากได้รถหลาย ๆ คัน อยากมีเงินทองทรัพย์สมบัติอื่น ๆ อีกมากมาย อยากเป็นเศรษฐี อยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากเป็นใหญ่ อยากมีอำนาจ อยากมีชื่อเสียง อยากมีคนยกย่องสรรเสริญ อยากมีข้าทาสบริวาร อยากดื่มสุรา อยากเล่นการพนัน อยากกินอยากเที่ยวเตร่ดูหนังดูละคร อยากมีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ อยากมีอาหารดี ๆ มารับประทาน นี่คือ เหตุของการเกิดทุกข์ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ที่เรียกว่า ภวตัณหา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จะมีสิ่งใด ๆ ก็ตาม เราต้องเป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น และทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ แม้แต่ตัวเราก็ต้องสูญสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นของเรา และไม่มีอะไรเป็นของใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้น เพราะเมื่อตายไปแล้ว ไม่มีใครนำสิ่งใด ๆ ติดตัวตามตนไปได้เลย เป็นเพียงสมบัติที่ผลัดกันชมเท่านั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ความทุกข์ก็จะคลายลง
๓. วิภวตัณหา คือ เหตุของการเกิดทุกข์ หมายถึง ความรู้สึกไม่อยากได้ ไม่อยากดี ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่น ไม่อยากแก่ ไม่อยากป่วย ไม่อยากตาย ไม่อยากอดอยากยากจน ไม่อยากเสียทรัพย์ ไม่อยากพลัดพรากจากของรักทั้งหลายทั้งปวง ไม่อยากเป็นหนี้ ไม่อยากเป็นคนโง่ ไม่อยากทำงานหนัก ไม่อยากเป็นคนไม่หล่อ ไม่สวย ไม่อยากเป็นคนพิการ ไม่อยากคิด ไม่อยากพูด ไม่อยากทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบใจ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ล้วนเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า วิภวตัณหา
เพราะฉะนั้นผู้ใดเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า เหตุของการเกิดทุกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้คือ
๑. กามตัณหา ความลุ่มหลงมัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ และหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์
๒. ภวตัณหา ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์
๓. วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากได้ ไม่อยากดี ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ทั้ง ๓ ประการนี้เรียกว่า สมุทัย คือเหตุของการเกิดทุกข์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เหตุที่เราคิด เราพูด เราทำแล้ว เกิดทุกข์ จงพยายามลด ละเลิก ไม่สร้างเหตุนั้น ๆ ขึ้นอีก ผู้ใดพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง และหมดไปในที่สุด
๓. นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ คือการชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป เพราะมนุษย์ทุกคน มีกิเลสเป็นเครื่องครอบงำจิต เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีความโลภฝังอยู่ในจิต ติดตัวตามตนมาตั้งแต่เกิด มีความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็นไม่มีที่สิ้นสุด มีความโกรธฝังอยู่ในจิตติดตัวตามตนมาตั้งแต่เกิด มีความอิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาทปองร้าย เคียดแค้นชิงชัง ทำร้ายทำลายทรัพย์สิน และชีวิตซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลา มีความหลงฝังอยู่ในจิต ติดตัวตามตนมาตั้งแต่เกิด มีความรักใคร่พอใจในสิ่งต่าง ๆ เช่น พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ หนุ่มสาวหลงรักซึ่งกันและกัน หลงในทรัพย์ หลงในยศ หลงในสรรเสริญ หลงในสุข หลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ความหลง คือความเข้าใจผิดคิดว่า สิ่งต่าง ๆในโลกนี้ ถ้าเป็นของเราแล้วจะทำให้มีความสุข แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สิ่งใดที่เราได้มาแล้ว คิดว่าจะเป็นสุข แต่เมื่อได้มาแล้วกลับเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น ๆ ความจริงก็จะปรากฏขึ้นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จะต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ใช่ของเรา แม้แต่ตัวเราเอง และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ก็ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้น เป็นเพียงสมบัติผลัดกันชม ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ผู้ใดเข้าใจในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เกิดมาเป็นมนุษย์มีความทุกข์จริง คือมีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ รู้เหตุของการเกิดทุกข์ คือสมุทัย มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จะดับทุกข์ได้ก็ต้องชำระกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ เมื่อกิเลสหมดทุกข์ก็หมดไป เรียกว่า เข้าถึงซึ่ง นิโรธ คือ ทุกข์ดับไป ผู้ใดชำระกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ เป็นพระอริยะ เมื่อดับขันธ์ก็จะเข้าสู่พระนิพพานในที่สุด ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ในสวรรค์ ในโลกมนุษย์ และในนรกอีกต่อไป
๔. มรรคมีองค์ ๘ หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ เป็นวิธีปฏิบัติที่ประเสริฐสุด สำหรับผู้ปฏิบัติตาม ที่มีความตั้งใจมั่นที่จะชำระกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ อย่างจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง จนสำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคล หรือเป็นพระอริยเจ้าได้ในที่สุด มรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. ความเห็นที่ถูกต้อง
๒. ความดำริที่ถูกต้อง
๓. ใช้วาจาที่ถูกต้อง
๔. มีการงานที่ถูกต้อง
๕. การเลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง
๖. มีความพยายามที่ถูกต้อง
๗. มีสติที่ถูกต้อง
๘. มีสมาธิที่ถูกต้อง
รายละเอียดของมรรค ๘ แต่ละข้อ มีดังนี้
๑) ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง ผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วต้องประพฤติปฏิบัติตน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ถูกต้องตามวัฒนธรรม และจารีตประเพณี
๑.๑ ความเห็นที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมาย หมายถึง กฎระเบียบข้อบังคับที่ประชาชนพลเมืองในประเทศนั้น ๆ ต้องปฏิบัติตาม เกิดขึ้นมาจากสถาบัน หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศนั้น ๆ บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ในการปกครองประเทศ ให้เกิดความสงบสุข ตัวอย่างเช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพานิช เป็นต้น ตัวอย่างเช่น กฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ บัญญัติว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึง ยี่สิบปี” นี่คือ ผู้ที่ทำผิดกฏหมายต้องได้รับโทษตามที่ได้บัญญัติไว้ ดังนั้นเราจึงควรประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ชีวิตก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใด ๆ
๑.๒ ความเห็นที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หมายถึง มีความเห็นตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมี ๘๔,๐๐๐ บท (พระธรรมขันธ์) ซึ่งเป็นหลักในการปฏิบัติ คือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เช่น ท่านสอนให้เราให้ทาน มี ๔ อย่างได้แก่
๑. อามิสทาน คือ การให้ทรัพย์สมบัติเงินทองสิ่งของต่าง ๆ กับผู้อื่น ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแต่อย่างใด
๒. วิทยาทาน คือ การให้วิชาความรู้กับผู้อื่น ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแต่อย่างใด
๓. อภัยทาน คือ การยกโทษให้กับผู้ที่กระทำผิดไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่อาฆาตพยาบาทปองร้ายต่อกัน
๔. ธรรมทาน คือ นำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชน ละชั่วประพฤติดี ชำระจิตใจให้สะอาด ปราศจากกิเลสทั้ง ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ประพฤติถูกต้องตามครรลองคลองธรรม และยังต้องละเว้นการทำความชั่ว ตามศีลแต่ละข้อ มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพื่อให้กาย วาจา ใจ สะอาดปราศจากความชั่ว ต้องฝึกเจริญสมาธิ เพื่อให้มีสติควบคุมจิตไว้ที่เดียว ตามบทภาวนาต่าง ๆ ที่ได้ศึกษากันมา ต้องเจริญวิปัสสนาคือนำคำสอนต่าง ๆ ซึ่งมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ บท (พระธรรมขันธ์) มาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ในสัจธรรม อันเป็นความจริง ที่เกิดขึ้นแล้วในมวลมนุษย์
๑.๓ ความเห็นที่ถูกต้องตามวัฒนธรรม วัฒนธรรม หมายถึง การกระทำที่ดีงาม นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น ภาษา วัฒนธรรมไทย มีการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย มีการไหว้ที่นอบน้อม สวยงาม มีการนั่งพับเพียบเรียบร้อย เป็นต้น
๑.๔ ความเห็นที่ถูกต้องตามจารีตประเพณี จารีตประเพณี หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นเวลายาวนาน เช่นประเพณีแต่งงาน ประเพณีบวชนาค ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่ม หญิงสาวรักกัน แล้วไปสู่ขอกับพ่อแม่ จัดพิธีแต่งงานแล้วจึงอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา นี่คือการกระทำที่ถูกต้องตามจารีตประเพณีไทย แต่ถ้าหากหนุ่มสาวคู่ใด ที่อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา โดยมิได้จัดพิธีแต่งงานให้ถูกต้อง ถือว่าทำผิดจารีตประเพณีไทย เป็นต้น
๒) ความดำริที่ถูกต้อง หมายถึง ความคิดริเริ่มที่จะทำความดี เช่น คิดดี พูดดี ทำดี ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ถูกต้องตามวัฒนธรรมและจารีตประเพณี มีความคิดที่จะลดความลุ่มหลงมัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ และคิดจะลดความลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะได้ศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงรู้ว่ากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดความทุกข์ ไม่รู้จักจบสิ้น และยังเป็นเหตุให้มีการเวียนว่าย ตาย เกิด ชาติแล้วชาติเล่า มีความทุกข์ตลอดกาล จึงคิดที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ เพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเวียนตายเกิดอีกต่อไป นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความดำริที่ถูกต้อง
๓) ใช้วาจาที่ถูกต้อง หมายถึง การพูดในเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น ด้วยเหตุด้วยผล ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ถูกต้องตามวัฒนธรรมและ จารีตประเพณี เช่น แนะนำให้ผู้อื่นรู้จักการให้ทาน คือการเสียสละทรัพย์สินเงินทอง ให้กับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก และสาธารณประโยชน์อื่น ๆ แนะนำผู้อื่นให้นำศีล ๕ ธรรม ๕ มารักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากความชั่ว แนะนำให้ผู้อื่นฝึกสมาธิ มีสติความคุมจิตให้สงบ แล้วนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพิจารณาให้เห็นเป็นความจริง ที่เรียกว่า วิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญา หรือเรามีวิชาความรู้ใด ๆ ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดวัฒนธรรม ไม่ผิดจารีตประเพณี ก็แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม เพื่อนำไปประกอบอาชีพที่สุจริต เลี้ยงตนเองและครอบครัว แนะนำให้ทุกคนรู้จัก พระคุณของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพระคุณ ของพ่อ แม่ ครูอาจารย์ แนะนำให้รู้จักการตอบแทนพระคุณของทั้ง ๓ สถาบัน รวมทั้ง พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่ท่านมีพระคุณต่อเราตลอดมา ผู้ใดได้ฟังแล้วนำไปปฏิบัติตาม ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนดีมีสติปัญญา ไม่ประพฤติผิดกฎหมาย ไม่ประพฤติผิดครรลองคลองธรรม ไม่ประพฤติผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี ถ้าทุกคนในสังคม พูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อกัน ก็จะทำให้สังคมนั้นอยู่อย่างสงบสุข แต่ถ้าสังคมใดที่มีคนพูดในเรื่องที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น เช่นพูดโกหก หลอกลวง พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมนั้น ๆ ประชาชนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีความสุข
๔) มีการงานที่ถูกต้อง หมายถึง การงานที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบาก็ตาม ต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดครรลองคลองธรรม ไม่ผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รับราชการต้องมีคุณธรรมประจำใจ คือ มีหิริ โอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน ไม่ทุจริตคดโกง รักษาผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ข้าราชการที่ประพฤติตนดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะเจริญรุ่งเรือง ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน เพราะการทำความดี นี่คือตัวอย่างของคนที่มีการงานที่ถูกต้อง
แต่ถ้าข้าราชการคนใด ทำผิดกฎหมาย ประพฤติผิดครรลองคลองธรรม ผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี ไม่มีคุณธรรมประจำใจ ขาดหิริ โอตตัปปะ ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกลงกลัวต่อบาป ทุจริตคดโกง เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม สร้างความเดือดร้อนให้แก่หน่วยงานและสังคมนั้น ๆ ผู้ใดประพฤติตนดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นกับตนเอง ต้องถูกลงโทษทางวินัย เช่น ภาคทัณฑ์ ปลดออก ไล่ออก บางคนถึงกับติดคุกติดตะราง เสียอนาคต เดือดร้อนถึงครอบครัว เพราะความชั่วที่ตนทำ นี่คือ ตัวอย่างของคนที่มีการงานที่ไม่ถูกต้อง
๕) เลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง หมายถึง การนำปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีวิต มี อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน การเลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง คือการได้ปัจจัย ๔ มาอย่างสุจริต ไม่ทุจริตคดโกง ไม่จี้ปล้น ไม่ฉกชิงวิ่งราว ได้มาโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดครรลองคลองธรรม ไม่ผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี รู้จักประมาณในการแสวงหาปัจจัย ๔ ไม่โลภมากจนเกินไป ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร ในการใช้สอย (บริโภค) ทรัพย์สมบัติ และสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับฐานะของตน มีน้อยใช้น้อย รู้จักเก็บออมไว้บ้าง มีมากใช้มากก็ต้องเก็บออมไว้บ้าง ผู้ใดรู้จักกิน รู้จักใช้ รู้จักประหยัด ก็จะมีชีวิตอยู่อย่างสบายไม่เดือดร้อน นี่คือตัวอย่างของผู้ที่เลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง
ผู้ที่เลี้ยงชีวิตไม่ถูกต้อง หมายถึง ผู้ที่ได้ปัจจัย ๔ มาโดยทุจริต คดโกง จี้ปล้น ฉกชิง วิ่งราว ได้มาโดยมิชอบ ผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี ไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาปัจจัย ๔ มีความโลภมาก เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ก็จะนำเอาไปเล่นการพนัน หรือดื่มสุรา ซื้อยาเสพติด ไม่รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร ไม่รู้จักประมาณในการใช้สอย (บริโภค) ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นกับชีวิตตนเองตลอดเวลา นี่คือตัวอย่างของผู้ที่เลี้ยงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง
๖) ความพยายามที่ถูกต้อง หมายถึง พยายามไม่ทำความชั่ว พยายามเลิกทำความชั่วที่เคยทำมาแล้ว พยายามทำแต่ความดีให้เกิดขึ้น พยายามรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ผู้ที่จะมีความพยายามที่ถูกต้องได้นั้น ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจาก พ่อแม่ ครู อาจารย์ มีสติระลึกได้ว่าตัวเรา มีความประพฤติผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดวัฒนธรรม และจารีตประเพณี จึงมีความพยายามละชั่วประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งทางโลกและทางธรรม
มีความพยายามที่ถูกต้องทางโลก ตัวอย่างเช่น เด็กเกเรไม่ตั้งใจเรียน ชอบดื่มสุรา เสพยาเสพติด ชอบเล่นการพนัน ชอบเที่ยวผู้หญิง ชอบคบคนชั่วเป็นมิตร สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง พ่อแม่ ครูอาจารย์ เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนแล้ว รู้ตัวว่าผิดจึงมีความพยายามที่จะละชั่วแล้วประพฤติดี กลับตัวกลับใจ ที่จะเลิกเป็นเด็กเกเร เลิกดื่มสุรา เลิกเสพยาเสพติด เลิกเล่นการพนัน เลิกเที่ยวผู้หญิง เลิกคบคนชั่วเป็นมิตร ความเดือดร้อนก็จะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง พ่อแม่ ครู อาจารย์ และสังคม จะเป็นเด็กดีของพ่อแม่ ครู อาจารย์ และเป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง นี่คือ ความพยายามที่ถูกต้องในทางโลก
มีความพยายามที่ถูกต้องทางธรรม ตัวอย่างเช่น ไม่เคยให้ทานก็พยายามฝึกการให้ทาน โดยเสียสละทรัพย์ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เคยนำศีลนำธรรมมารักษากาย วาจา ใจ ก็พยายามนำศีล ๕ ธรรม ๕ มารักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดปราศจากความชั่วต่าง ๆ ไม่เคยฝึกสมาธิ ก็พยายามนั่งสมาธิ ฝึกสติให้มีพลังควบคุมจิตให้สงบอยู่ที่เดียว ไม่เคยวิปัสสนา คือการนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพิจารณาให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ตามธรรมชาติของสัตว์โลก ต้องมีความพยายามเจริญสมาธิ และเจริญวิปัสสนาเป็นประจำจนเกิดปัญญา เห็นกิเลสทั้ง ๓ อย่าง คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิตใจของเรา ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อทราบดังนี้แล้ว ก็ต้องมีความพยายามที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจของเรา คือความพยายามศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ บท (พระธรรมขันธ์) พยายามเลือกคำสอนบทที่สมควรแก่ตน แล้วนำมาปฏิบัติตาม พยายามศึกษาและปฎิบัติอย่างจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง ด้วยความขยันหมั่นเพียร และอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ให้ได้ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
๗) สติ คือ ความระลึกได้ มีสติที่ถูกต้องหมายถึง ผู้ที่มีสติระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่า จิตกำลังคิดอะไร วาจากำลังจะพูดอะไร กายกำลังจะทำอะไร มีสติอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาคือ ความรู้คู่สติด้วย จึงจะรู้ว่าเรื่องที่จิตคิดนั้น ผิดหรือถูกกฎหมาย ผิดหรือถูกครรลองคลองธรรม ผิดหรือถูกวัฒนธรรมและจารีตประเพณีหรือไม่ ตัวอย่างเช่น วันนี้จิตคิดว่า จะนำเงินและทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน จากการถูกไฟไหม้บ้าน น้ำท่วม หรือเดือดร้อนในเรื่องอื่น ๆ สติระลึกขึ้นได้ว่า จิตคิดดีแล้ว ส่วนปัญญาก็จะพิจารณาตามเรื่องที่จิตคิด ปัญญาเห็นว่าจิตคิดถูกต้องแล้ว ปัญญาก็จะช่วยส่งเสริมให้พูด ให้กายประกอบกรรมดีตามที่จิตคิด โดยการนำเงินและทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ไปช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ตามความปรารถนาของตนได้สำเร็จ นี่คือผู้ที่ใช้สติปัญญาได้ถูกต้อง
๘) สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น สมาธิที่ถูกต้อง หมายถึง ความตั้งใจมั่นที่จะคิดดี พูดดี ทำดีทั้งทางโลก และทางธรรม
ความดีทางโลก คือความตั้งใจมั่นที่จะคิดดี พูดดี ทำดี ทั้งทางโลกและทางธรรม ความดีทางโลกคือ ตั้งใจละชั่วประพฤติดี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ประพฤติผิดครรลองคลองธรรม ไม่ผิดวัฒนธรรม และไม่ผิดจารีตประเพณี จะประกอบกิจการงานใด ๆ ก็จะประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ของหน่วยงานและองค์กรนั้น ๆ ตั้งใจที่จะซื่อสัตย์สุจริต ต่อหน้าที่การงาน จะรับราชการ ทหาร ตำรวจ ครู อาจารย์ หรือองค์กรใด ๆ ก็จะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ในหน้าที่การงานนั้น ๆ เป็นคนดีของครอบครัว ของสังคม และประเทศชาติบ้านเมือง เป็นตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังต่อไป นี่คือความตั้งใจที่ทำความดีทางโลก
ตั้งใจมั่นที่จะประพฤติดีทางธรรม ตัวอย่างเช่น ตั้งใจให้ทานเสมอ ๆ เพื่อให้เกิดคุณธรรมประจำใจ มีความเมตตา กรุณา คือความรักความสงสารให้เป็นนิสัย ตั้งใจที่จะนำศีล ๕ ธรรม ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตามความเหมาะสมกับตน และของแต่ละบุคคล เพื่อเว้นจากการทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ และตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามพระองค์ท่าน และตั้งใจชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตใจ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ถึงซึ่งความสุขชั่วนิจนิรันดร์ นี่คือความตั้งใจทำความดีทางธรรม
ผู้ที่มีสมาธิไม่ถูกต้อง หมายถึง ความตั้งใจที่จะทำแต่ความชั่ว คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ตัวอย่างเช่น ตั้งใจที่จะไปจี้ ปล้น ฉกชิง วิ่งราว ทุจริต คดโกง ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ประพฤติผิดครรลองคลองธรรม ผิดวัฒนธรรม และผิดจารีตประเพณี ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน ความเสื่อมเสียต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติบ้านเมือง ผู้ที่มีความตั้งใจไม่ถูกต้อง จึงได้รับความทุกข์ยาก ลำบากในชีวิตประจำวัน และตลอดชีวิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี สำหรับชนรุ่นหลัง นี่คือผู้ที่มีสมาธิ คือความตั้งใจที่ไม่ถูกต้อง
อริยสัจ ๔ เป็นธรรมอันประเสริฐ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้ง ๔ ข้อนี้ คือ
๑. ทุกข์
๒. สมุทัย
๓. นิโรธ
๔. มรรค
ก็จะเกิดปัญญา คือความรอบรู้ในสัจธรรม รู้แจ้งเห็นจริงในการเกิดของมนุษย์ และสัตว์ในโลกนี้ ว่ามีแต่ความทุกข์ มีเหตุของการเกิดทุกข์ มีทางปฎิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ ทุกข์ก็จะดับสิ้นไปจากจิตใจ ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระอริยะ เมื่อดับขันธ์ก็เข้าสู่พระนิพพานในที่สุด