มูลเหตุของความโง่เขลา
อกุศลมูล ๓ คือ ความไม่ฉลาด(โง่) เป็นทาสของกิเลส ๓ อย่าง ได้แก่ ๑.โลภะ ๒.โทสะ ๓.โมหะ
๑.โลภะ หมายถึง อยากได้
๒.โทสะ หมายถึง คิดประทุษร้ายผู้อื่น
๓.โมหะ หมายถึง ไม่รู้จริง
๑. โลภะ หมายถึง ความโลภ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน เป็นเหตุให้ทำความชั่วได้ทุกอย่าง เช่น ทุจริต คดโกง จี้ ปล้น ฉกชิงวิ่งราว ลักขโมย เป็นต้น ทำความเสื่อมเสียให้กับตนเองและผู้อื่น เป็นการทำผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ผู้ใดได้กระทำความผิดดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็จะเกิดความเดือดร้อน มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข วิธีลดความโลภ คือผู้ที่มีความโลภมากต้องพยายามให้ทาน ด้วยการให้ทรัพย์สมบัติเงินทองและสิ่งของต่าง ๆ แก่ผู้ที่ควรให้ เช่น พระภิกษุสามเณร ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในพระธรรมพระวินัย ให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส ฝึกตนให้เป็นผู้รู้จักการเสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น จะเป็นการลดความโลภลงได้บ้าง
๒. โทสะ หมายถึง ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท คิดประทุษร้ายผู้อื่น เช่น อยากฆ่า อยากตี อยากด่า เป็นต้น ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาททำร้ายทำลายกัน บางครั้งเกิดบันดาลโทสะ ขาดสติสัมปชัญญะ ถึงกับฆ่ากันตายก็มี ผู้ใดที่มีโทสะครอบงำจิต ผู้นั้นจะมีแต่ความเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส คิดแต่จะทำร้ายทำลายผู้อื่นตลอดเวลา มีความหวาดระแวง อยู่อย่างไม่มีความสุข วิธีลดโทสะ คือความโกรธ อาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่นลงได้จะต้องสร้างคุณธรรมประจำใจ คือมีเมตตา มีความรักและความปรารถนาดี มีความกรุณา คือความสงสารต่อผู้อื่นเสมอ ๆ ผู้ใดได้ฝึกจิตให้มีคุณธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ ความอาฆาตพยาบาทก็จะลดลงและหมดสิ้นไป จิตก็จะคลายจากความเศร้าหมองและผ่องใสในที่สุด
๓. โมหะ หมายถึง ความหลง ความโง่เขลา ความเข้าใจผิด ไม่รู้จริง เข้าใจว่า มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข เป็นสิ่งที่วิเศษสำหรับชีวิตมนุษย์ เป็นเหตุให้เกิดความประมาท ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อว่าบาปบุญคุณโทษมีจริง เมื่อเกิดความรักใคร่พอใจในสิ่งใด ๆ แล้ว ก็จะขวนขวายหาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสมบัติของตน โดยไม่คำนึงว่า การได้มานั้นจะเป็นการได้มาอย่างทุจริต คดโกง ปล้นจี้ ลักขโมย หลอกลวง ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนและโทษจากการกระทำผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ผู้ใดที่มีความหลงครอบงำจิตอยู่มาก ก็จะมีแต่ความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย จะอยู่ ณ ที่ใดก็จะร้อนรนหาความสุขไม่ได้ ถึงแม้จะมีทรัพย์สมบัติมาก มียศถาบรรดาศักดิ์สูง มีคนยกย่องสรรเสริญ มีความสุขกับสิ่งที่รักใคร่พอใจนั้น ก็ทำให้เราเกิดทุกข์ วิธีลดความหลง คือใช้สติปัญญาพิจารณาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี แม้กระทั่งตัวตนของเรา และสิ่ง ต่าง ๆ ที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ ว่าไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ของใคร เพราะทุกอย่างเป็น อนิจจัง คือความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทุกขัง คือมีอย่างเป็นทุกข์ อนัตตา คือทุกอย่างย่อมสูญสลายไปตามกาลเวลา ตายแล้วไม่มีอะไร ติดตัวตามตนไปได้เลยแม้แต่อย่างเดียว นอกจากความดีและความชั่วเท่านั้น เมื่อผู้ใดใช้สติ ปัญญาพิจารณาได้ดังนี้แล้ว กิเลสความหลงเข้าใจผิดก็จะ ค่อย ๆ คลายลง ความยึดมั่นถือมั่น ก็จะลดน้อยลงไปในที่สุด
อกุศลมูลทั้ง ๓ อย่าง เป็นมูลเหตุของความโง่เขลา ทำให้เกิดความเสื่อม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ทำลายคุณงามความดีของมนุษย์ สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงไม่ควรให้อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ จะได้อยู่อยู่อย่างสุขสบาย