ทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์
ทุกข์ คืออะไร
ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เช่น ทุกข์ทางกาย เมื่อเราเกิดมาแล้ว มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ และอาการ ๓๒ รวมเป็นร่างกาย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าธาตุ ขันธ์ สิ่งที่จำเป็นจะต้องหามาใช้ในการดำรงชีวิต คือ ปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย
มนุษย์ทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว จำเป็นจะต้องมีปัจจัยทั้งสี่ อย่างนี้ จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีอาหารเลี้ยงร่างกาย ร่างกายก็จะทรุดโทรมผอมแห้ง เกิดโรคภัยต่าง ๆ และจะตายในที่สุด ถ้าไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ไม่มีเครื่องป้องกัน ความร้อน ความหนาว ไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายที่เกิดจากสัตว์ต่าง ๆ ที่มาทำร้ายร่างกายจะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่มีเครื่องนุ่งห่มร่างกายก็จะดูน่าเกลียด น่าชังเมื่อมีผู้มาพบเห็น ถ้าไม่มีที่อยู่อาศัย ฝนตกก็จะเปียก แดดออกก็จะร้อน เพราะไม่มีสิ่งใดมากันแดด กันฝน กันลม เวลาจะนั่งนอน ยืน เดิน หรือเวลาทำงานต่าง ๆ ก็จะไม่สะดวกจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย และจะมีอันตรายจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ และไม่ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ถ้าไม่มียารักษาโรค เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน กับโรคนั้น ๆ จนกว่าจะตาย นี่คือทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกาย และยังมีทุกข์อื่นๆ อีก
ทุกข์มี ๒ ลักษณะ คือ
ทุกข์ประจำ หมายถึงทุกข์ที่เกิดขึ้นประจำ เช่น ความหิวก็เป็นทุกข์ อิ่มก็เป็นทุกข์ ขับถ่ายก็เป็นทุกข์ ร้อนก็เป็นทุกข์ หนาวก็เป็นทุกข์ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็เป็นทุกข์
ทุกข์จร หมายถึงทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คือการเจ็บไข้ได้ป่วย ทางร่างกาย เช่น แขนขาด ขาขาด หูหนวก ตาบอด อวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งในร่างกายเป็นโรค เช่น หัวใจ ตับ ไต ไส้พุง เป็นโรคใดโรคหนึ่ง ร่างกายก็จะเกิดความทุกข์ ทรมาน หรือมีคนมาทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ดังที่มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอยู่ทุกวันนี้ นี้คือตัวอย่างความทุกข์ ทางกายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์
แต่มนุษย์ส่วนมาก คิดว่าเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า มีรูปก็เป็นทุกข์
ทุกข์ใจ หมายถึงความไม่สบายใจ มีความรักใคร่พอใจ อยากได้สิ่งใด ๆ ก็เป็นทุกข์ เมื่อได้มาแล้วเกิดความเบื่อหน่ายไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ ตัวอย่าง เช่น หญิงชายรักกัน อยากอยู่ร่วมกัน ก็กระสับกระส่าย หาวิธีที่จะได้บุคคลผู้นั้นมาเป็นของตน เพราะหลงคิดว่า ถ้าได้อยู่ร่วมกันแล้วจะเป็นสุข พอได้อยู่ร่วมกันจริง ๆ แล้ว กลับเกิดความทุกข์ใจมากขึ้น เพราะไปยึดมั่นว่าเธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ เกิดความหวงแหน ทำให้ใจเป็นทุกข์ และยังทุกข์ใจต่ออีกเมื่อมีลูก ก็จะรักลูก ห่วงใยลูก กลัวลูกจะไม่ได้ดีมีสุข พ่อแม่ก็ทุกข์ใจตลอดเวลา จนกว่าจะตายจากกัน นี้คือตัวอย่างหนึ่งของความทุกข์ใจ
ทั้งหมดของความทุกข์ใจนี้ เกิดจากมีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ จึงทำให้เป็นทุกข์ตลอดเวลา
ในเมื่อเข้าใจแล้วว่ามนุษย์ เกิดมาแล้วมีความทุกข์ ทั้งทางกาย และทางใจ มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้เหตุของการเกิดทุกข์ หรือทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุใด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้หาเหตุของการเกิดทุกข์ เมื่อรู้เหตุแล้ว ก็ไม่สร้างเหตุของการเกิดทุกข์อีกต่อไป
ปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์
เหตุของการเกิดทุกข์ เพราะเรามีรูปหรือร่างกาย ทำให้เกิดการยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน ว่าเป็นเราเป็นเขา จึงเป็นเหตุให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธรรมารมณ์ หลงอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี้คือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์
ตัวอย่างเช่น หลงในลาภ คือหลงในทรัพย์สมบัติเข้าใจว่ามีทรัพย์สมบัติมากแล้ว จะมีความสุขเหนือผู้อื่น จะมีชื่อเสียงมีคนเคารพนับถือ เป็นเหตุทำให้เกิดความโลภ อยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มมากขึ้น พยายามหาทาง เพื่อให้ได้ทรัพย์สมบัตินั้นมาโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ทุจริต คดโกง เล่นการพนันทุกรูปแบบ เช่น เล่นหวย เป็นต้น ความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้วที่เห็นคือ เสียเงินเสียทอง ถ้าไม่ได้ตามที่ปรารถนาก็จะเสียใจ เป็นทุกข์ต่อไปอีก ผู้ที่ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ เมื่อได้ครั้งหนึ่งก็ยังไม่เห็นทุกข์พยายามสร้างทุกข์ต่อ ๆไป คือการปฏิบัติเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ซากๆ อยู่เช่นนี้ ทุกข์ก็มากขึ้น ๆ สิ่งที่หวังว่าจะได้ แต่กลับเป็นหนี้เป็นสินท่วมท้น เมื่อหาทางออกไม่ได้บางคน ถึงกับคิดฆ่าตัวตายอย่างนี้ก็มี เป็นต้น
ตัวอย่างคนที่หลงในยศ เมื่อมียศแล้ว ก็คิดว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ทำให้เป็นสุข และมีคนเคารพนับถือ ก็จึงเกิดความอยากเป็นใหญ่ต่อไป ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ยศตำแหน่งสูงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงการทำผิดกฎหมาย และครรลองคลองธรรม ไม่คำนึงถึงความเหมาะสม และความสามารถของตนในตำแหน่งนั้น ๆ พอมียศมีตำแหน่งเพิ่มขึ้นก็หลงอำนาจ ขาดเมตตาธรรม ไม่มีความยุติธรรมในการปกครอง
เมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นก็ทำการทุจริต คดโกงทุกรูปแบบ ก็เกิดทุกข์ กลัวเขาจะจับได้ และจะทุกข์ต่อไป เมื่อความผิดปรากฏชัดแจ้ง ก็จะถูกไล่ออก ปลดออกจากตำแหน่ง ถูกดำเนินคดี ติดคุก ติดตะราง นี้คือ ความทุกข์ของคนที่หลงในยศ
ตัวอย่างผู้ที่หลงในคำสรรเสริญ หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ทำความดี กลับต้องการให้ผู้อื่นชื่นชมยินดี ยกย่องสรรเสริญ แม้ทำความดีเพียงเล็กน้อย ก็อวดอ้างว่าทำมากกว่าผู้อื่น หรือบางครั้งผู้อื่นทำความดี ก็มาแอบอ้างเป็นความดีของตน เพื่อต้องการให้คนอื่นสรรเสริญ คนจำพวกนี้ไม่ต้องการคำตักเตือนของผู้อื่น เมื่อถูกตำหนิติเตียนก็จะเกิดความโกรธ อาฆาต พยาบาท ปองร้าย เป็นศัตรูกับเพื่อนร่วมงาน คนชนิดนี้ชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น จิตจะเศร้าหมองเป็นทุกข์ตลอดเวลา
และมีคนอีกจำพวกหนึ่ง หลงคำสรรเสริญ เยินยอเป็นชีวิตจิตใจ เจ้านายจะใช้ทำอะไร จะถูกหรือผิดกฎหมาย ระเบียบวินัย และครรลองคลองธรรม หรือไม่ก็ตาม ก็ยอมทำทุกอย่าง เพราะหลงในคำสรรเสริญนั้น ถ้าไม่ได้รับคำสรรเสริญก็จะเกิดความน้อยใจ เสียใจ พวกนี้มักจะบ่นเสมอว่า ทำดีไม่ได้ดี นี้คือ ความทุกข์ของผู้ที่หลงในคำสรรเสริญ
ผู้ที่หลงอยู่ในความสุข หมายถึง ผู้ที่มีความพอใจในการกระทำบางอย่าง (อบายมุข) คิดว่าเป็นสุข เช่นความพอใจในการแต่งกาย เล่นการพนัน ดื่มเหล้าเมายา ผู้หญิงที่ชอบเที่ยวกลางคืน ผู้ชายที่เป็นนักเลงผู้หญิง เป็นต้น
ผู้ที่หลงในความสวยความงาม ในการแต่งกาย อยากสวย อยากงามโดยไม่คำนึงถึงฐานะของตัวเอง เห็นผู้อื่นเขาแต่งตัวตามสังคมนิยม ก็จะไปกู้ยืมเงินมาซื้อเครื่องแต่งตัวให้ทัดเทียมกับผู้อื่น เข้าใจว่าเป็นความสุข แท้ที่จริงแล้วนั้น คือ ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงในการแต่งกาย
ผู้ที่หลงในการเล่นการพนัน เกิดจากความโลภ อยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น จึงเกิดการพนันขันต่อกันทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดการแพ้ ชนะขึ้น ผู้แพ้ก็เสียทรัพย์ ผู้ชนะก็ได้ทรัพย์ ผู้ได้ก็ดีใจอยากได้อีกต่อไป ผู้แพ้ก็เสียใจ เพราะเสียดายทรัพย์อยากได้ทรัพย์คืน จึงมีการเล่นการพนัน วนเวียนกันตลอดเวลา นักการพนันทั้งหลาย เห็นว่าเป็นสุข ที่แท้ก็ทุกข์ตั้งแต่คิด ขณะเล่นก็เป็นทุกข์ เล่นแล้วก็ทุกข์ บางคนก็เสียทรัพย์สมบัติ เสียเนื้อเสียตัว และทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายถึงกับเสียชีวิตก็มี
พวกที่หลงกินเหล้าเมายา หมายถึง ผู้ที่คิดว่าดื่มสุราแล้วจะหายกลุ้มใจ เพราะมีปัญหาในชีวิต หาทางออกไม่ได้ จึงดื่มสุราเพื่อให้ลืมความทุกข์ แต่ทุกข์กลับหนักขึ้น เพราะจะต้องเสียเงิน เสียงาน เสียสุขภาพ เสียบุคลิก เสียสติปัญญา เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และเสียชีวิตในที่สุด
อีกพวกหนึ่งพวกดื่มสุรา เป็นประจำจนติด มีก็ดื่ม ไม่มีก็เสาะแสวงหามาดื่ม จนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง มีโรคร้ายตามมา มีทุกข์ตลอดชีวิต ดังจะเห็นทั่วไปในปัจจุบันนี้
บางพวกดื่มสุราเมามาย จนขาดสติสัมปชัญญะ ทำความชั่วได้ทุกอย่าง เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปดหลอกลวง และยังทำความผิดอย่างอื่นอีก เช่น ทะเลาะวิวาท ขับรถประมาทเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตัวเอง และผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต เราจะเห็นได้ว่าการดื่มสุราไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่ว่าดื่มในลักษณะใด
หญิงที่ชอบเที่ยวกลางคืน หมายถึงผู้หญิงที่คิดว่าการไปดูหนังฟังเพลง คบเพื่อนชาย ดื่มสุรา เต้นระบำรำฟ้อน เป็นความสุข แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความทุกข์ เพราะต้องเสียการงาน เสียการเรียน เสียเงิน เสียสุขภาพ บางคนถึงกับเสียตัว ติดโรคร้าย ท้องไม่มีพ่อ เสียอนาคต และยังทำให้พ่อ แม่ พี่น้อง ครอบครัวเป็นทุกข์ เดือดร้อนไปตามๆ กัน
ผู้ชายที่เป็นนักเลงผู้หญิง หมายถึง พวกที่ไม่สำรวมในกาม เจ้าชู้ชอบสู่สมกับภรรยาผู้อื่น และหญิงอื่นๆ ไม่เลือก การไปเที่ยวแต่ละครั้ง เขาจะสอดส่อง แสวงหาหญิงมาเป็นคู่นอนโดยไม่คำนึงถึงว่าลูกเขาเมียใคร จะเป็นคนดีหรือคนชั่ว ขอเพียงให้ได้เสพสม ตามอารมณ์ที่ตั้งไว้ แม้จะเสียเงินเสียทองก็ยอมเพราะหลงคิดว่า เป็นความสุขสนุกสนาน
บางคนโชคร้าย รับเชื้อเอดส์ติดตัวมา และกลับไปติดบุตรภรรยาที่บ้าน สร้างความเดือดร้อนเป็นทุกข์ทั้งครอบครัว พ่อแม่ต้องอับอายขายหน้า เสียชื่อเสียง และต้องเสียชีวิตในที่สุด
เพราะมีรูปหรือร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราลองคิด พิจารณาดูสิว่า รูปหรือร่างกายของเรานี้ ทำให้เกิดทุกข์จริง หรือไม่ เป็นต้นว่า ตั้งแต่เกิดมาก็แสดงความทุกข์ให้เห็นแล้ว พอเด็กคลอดออกมา เด็กทุกคนก็จะร้อง บอกถึงความรู้สึกว่าหิว แม่เอานมให้กินก็หยุดร้องชั่วคราว ไม่นานนักก็หิวและร้องอีก แม่ก็ให้กินนมอีก อยู่อย่างนี้เป็นเดือน เป็นปี ก็ยังไม่เลิกกิน กินแล้วก็ถ่าย ทั้งหนัก ทั้งเบา กินวันละ ๓ เวลา หรือบางทีก็มากกว่านี้ อาหารที่กินมีทั้ง คาว หวาน นานาชนิด กินเข้าไปเลี้ยงร่างกาย เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต เมื่อเวลาผ่านไป ๒๐-๒๕ ปี ร่างกายก็เจริญเต็มที่ จากนั้นก็หยุดการเจริญเติบโต กลับเกิดความเสื่อมให้เราได้เห็นกันอยู่เสมอ คือยิ่งกิน ยิ่งแก่ ร่างกายเหี่ยวย่น เกิดการเจ็บไข้ ได้ป่วย และตายไปในที่สุด
เมื่อมีร่างกายก็ต้องทำความสะอาด อาบน้ำ แปรงฟัน สระผม ตัดเล็บ อื่น ๆ อีก ถ้าไม่ทำความสะอาดก็จะมีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจของผู้คน หรืออาจเกิดโรคผิวหนังได้
นอกจากนี้ยังมีความทุกข์เรื่องเสื้อผ้า ที่จะต้องหามาสวมใส่ ป้องกันความหนาว ความร้อน ปกปิดร่างกาย อันน่าเกลียดน่าชังนี้ไว้ตลอดชีวิต ยังต้องหาที่อยู่อาศัยให้ร่างกายอยู่อีก เพื่อป้องกัน แดด ฝน ลม หนาว และอันตรายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความเจ็บป่วย ก็ต้องพยายามหายา มารักษาโรค ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า เมื่อมีรูปหรือร่างกาย มีความทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างจริงแท้แน่นอน
มนุษย์เพียงคนเดียว ก็ทุกข์มากมายขนาดนี้ เพราะมนุษย์ไม่รู้จักทุกข์ มนุษย์ยังแสวงหา ความทุกข์ต่อไปโดยมี สามี ภรรยา มีลูกมีหลาน ทุกข์ก็ยิ่งทวีคูณ มากขึ้นเท่านั้น
ความลุ่มหลงมัวเมา ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด ชาติแล้วชาติเล่า ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้เลย
ถ้าผู้ใดรู้ทุกข์ รู้ว่ามีรูปหรือร่างกาย เป็นเหตุให้เราเกิดทุกข์ ทุกข์ประจำ ทุกข์จร อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เมื่อเข้าใจในความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะกฎแห่งกรรม ถ้าเราทำดีบ้างทำชั่วบ้าง เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่อยากเกิดเป็นมนุษย์ เราก็ต้องทำลายรูปหรือ ร่างกาย ที่เรียกว่า “ธาตุ ขันธ์” ของเราให้หมดไป โดยนำคำสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มาปฏิบัติตาม เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ละชั่วประพฤติดี ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ ความหลง ตั้งใจให้มั่นคงอยู่กับความคิด และการกระทำ คือ “คิดดี พูดดี ทำดี”
คิดดี หมายความว่า คิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่น และไม่ผิดครรลองคลองธรรม
พูดดี หมายความว่า พูดในสิ่งที่ดี มีเหตุ มีผลเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น และไม่ผิดครรลองคลองธรรม
ทำดี หมายความว่า นำร่างกายไปประกอบ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ผิดกฎหมายและครรลองคลองธรรม
ถ้าประพฤติปฏิบัติตนอย่างนี้ตลอดชีวิต ก็จะพบแต่ความสุข ความเจริญในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป ถ้าท่านสามารถชำระกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ให้หมดจากจิตใจ จิตของท่านไม่มี ความโกรธ แม้มีสิ่งที่ทำให้โกรธ , ไม่มีความโลภแม้มีทรัพย์สมบัติใด ๆ มาล่อใจ ก็จะไม่ลุ่มหลงมัวเมา , ไม่มีความหลง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า แม้ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้เลย แม้แต่ร่างกายก็เอาไปไม่ได้ นี้คือสภาพความเป็นจริงของผู้ที่กิเลสหมดจากจิต เมื่อตายก็เข้าสู่นิพพานในที่สุด
จากที่อธิบายเรื่องทุกข์มาแล้ว ต่อไปก็มารู้ถึงวิธีปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์
วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์
เห็นกิเลสที่ครอบงำจิต
มีความตั้งใจมั่นในการชำระกิเลส
คิดชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป
มีความเพียรในการชำระกิเลส
มีสติอันมั่นคงในการปฏิบัติ
พูดดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
กายประกอบการงานที่สุจริต
เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์
- เห็นกิเลสที่ครอบงำจิต คือ ผู้มีปัญญารอบรู้ในทางธรรมชาติ ของจิตที่ถูกกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตในขณะที่จิตถูกความหลงครอบงำ ปัญญาก็จะรู้ เท่าทันว่า จิตเป็นทุกข์ ทุรนทุราย กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆเมื่อจิตถูกความโลภครอบงำ ปัญญาก็จะรู้เท่าทัน เห็นจิตมีความเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เพราะมีความปรารถนาอยากได้ในสิ่งต่าง ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่ได้ดังปรารถนา ความโกรธก็จะเกิดขึ้น มีความอาฆาต พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ถึงกับทำลายชีวิต และทรัพย์สิน เมื่อผู้มีปัญญาเห็นกิเลสครอบงำจิต ดังนี้แล้ว จึงมีความตั้งใจมั่นในการชำระกิเลส
- มีความตั้งใจมั่นในการชำระกิเลส หมายถึงการมอบกายถวายชีวิต เป็นพุทธบูชา ถึงแม้จะมีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง ก็ไม่ย่อท้อ จึงคิดจะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป
- คิดชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป หมายถึง คิดกำจัดกิเลส ความยึดมั่น ถือมั่น จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จึงมีความพยายามในการชำระกิเลสให้หมดจากจิต
- มีความเพียรในการชำระกิเลส หมายความว่า ใช้ความพยายาม ที่จะเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปทีละเล็กละน้อย ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใด ก็ไม่ท้อถอย พยายามอดทนต่อสู้ กับกิเลสจนกว่าจะหมดจากจิต ในชาตินี้ หรือชาติต่อๆไป ก็ตาม
- มีสติอันมั่นคงในการปฏิบัติ หมายความว่า ระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าจิต คิดอะไรอยู่ ผิดหรือถูก ชั่วหรือดี อยู่ใต้อำนาจของกิเลส หรือปัญญา ถ้าจิตถูกกิเลสครอบงำก็ใช้ปัญญามาพิจารณา เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส แต่ถ้าจิตคิดดีแล้วก็สนับสนุนให้ทำดีต่อไป เช่น พูดดีมีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น
- พูดดี มีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น หมายความว่า พูดดีมีเหตุ มีผล เช่น แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่น ละชั่วประพฤติดี ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง นำศีลมารักษากาย วาจา นำธรรมมารักษาใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อประกอบการงานที่สุจริต
- กายประกอบการงานที่สุจริต หมายความว่า ประกอบการงานดี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดครรลองคลองธรรม เช่น รับราชการก็ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ทุจริต คดโกง เป็นพ่อค้าวาณิชย์ ก็ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ค้ากำไรเกินควร เพื่อนำรายได้ไปเลี้ยงชีพ ด้วยความบริสุทธิ์
- เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ หมายความว่า ปัจจัยสี่ที่ต้องใช้เลี้ยงชีพ ประจำวัน ต้องได้มาด้วย ความบริสุทธิ์ จึงจะทำให้ร่างกายที่ ประกอบด้วย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ บริสุทธิ์ไปด้วย ในเมื่อเราประพฤติแต่ความดี ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความทุกข์ในปัจจุบัน ก็จะมีน้อย และหมดไปในที่สุด หมายความว่าทุกข์ก็หมดสิ้น เพราะ การชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป ในเมื่อท่านเข้าใจว่า กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ รู้ทางและปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไปจากจิต หมายถึง ทุกข์ได้ดับโดยสิ้นเชิงแล้ว จิตของท่านได้เข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้น เมื่อสิ้นอายุขัย ท่านจะได้เข้าสู่แดนนิพพาน ในที่สุด
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖