สิ่งที่เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นทุกขัง สิ่งที่เป็นอนัตตา
และ สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง สิ่งที่ ไม่เป็นทุกขัง สิ่งที่ไม่เป็นอนัตตา มีจริงหรือไม่
๑) สิ่งที่เป็นอนิจจัง (ความไม่เที่ยง) หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้
ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีการเกิด แก่ เจ็บและตายไปในที่สุด เหมือนกันทุกชีวิต บางชีวิตยังไม่แก่แต่ก็ต้องตายก่อนแก่ก็มี หรือต้นไม้ซึ่งเป็นพืช เป็นสิ่งที่มีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณเหมือนมนุษย์และสัตว์ ทั้งหลาย ก็ยังต้องมีการเกิด แก่ และก็ตายไปในที่สุด จะเป็นต้นไม้เล็กหรือต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สามารถพิสูจน์ได้ แม้แต่สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต ก็เป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง สิ่งปลูกสร้าง ตึก บ้านเรือน ยานพาหนะต่าง ๆ เป็นต้น ก็มีการเกิดขึ้น หรือสร้างขึ้น แล้วผุพังไปตามอายุของวัตถุ สิ่งของนั้น ๆ เพราะเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติ ที่สามารถพิสูจน์ได้ นี้คือ สิ่งที่เป็นอนิจจัง (ความไม่เที่ยง)
๒) สิ่งที่เป็นทุกขัง ( ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ) หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ในโลกนี้ เราหลงเข้าใจผิดคิดว่า จะทำให้เรามีความสุข จึงไปยึดมั่นถือมั่น ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งนั้น
ความทุกข์กาย หมายถึงความไม่สบายกาย ที่เกิดจากเรามีร่างกาย มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ต้องเลี้ยงด้วยปัจจัย ๔ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ถ้าไม่มีปัจจัย ๔ ก็เป็นทุกข์ หรือถ้ามีมากก็เป็นทุกข์อีก หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ ทุกข์ขับถ่าย ทุกข์หนาว ทุกข์ร้อน กระทบอ่อน กระทบแข็ง ก็เป็นทุกข์ เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ก็เป็นทุกข์ นั่ง นอน ยืน เดิน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น นี้คือ ความทุกข์กาย
ความทุกข์ใจ หมายถึงความไม่สบายใจ ที่เกิดจาก ความอยากรวย อยากสวย อยากเป็นใหญ่มียศสูง มีบริวารมาก อยากมีชื่อเสียง อยากมีคู่ครอง อยากมีลูก เป็นต้น เมื่อไม่ได้ตามความต้องการก็เป็นทุกข์อีก หรือถ้าหากได้มาตามความปรารถนา ก็กลัวสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาแล้ว จะสูญหายไปจากตน กลัวจะพลัดพรากจากของรักใคร่พอใจทั้งหลายทั้งปวง ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น นี้คือ ความทุกข์ใจ
นี้เป็นเพียงตัวอย่างสาเหตุของการเกิดทุกข์ และยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ นี้คือ สิ่งที่เป็นทุกขัง
๓) สิ่งที่เป็นอนัตตา ( ความสูญสลาย ไม่มีตัวไม่มีตน) หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่
เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ เช่น มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลาและอายุของสิ่งนั้น ๆ เช่น มนุษย์ มีอายุแตกต่างกันไป บางคนมีอายุสั้นบ้าง ยืนยาวบ้าง สัตว์ทุกชนิดก็เช่นเดียวกัน ต้นไม้ก็มีอายุแตกต่างกันไป บางชนิดอายุน้อย บางชนิดอายุมากเป็น ร้อยปีก็มี ทั้งนี้ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ หรือสิ่งต่าง ๆ ก็ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลาของสิ่งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ต้องสูญสลายหมดสิ้นไปตามกาลเวลา ไม่มีตัวไม่มีตน นี้คือ สิ่งที่เป็นอนัตตา
๔) สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง สิ่งที่ไม่เป็นทุกขัง สิ่งที่ไม่เป็นอนัตตา หมายถึง
พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ล้วนแล้วแต่เป็นความจริง ที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม พระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน ยังคงเป็นสัจธรรม คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ตลอดมา
สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง ( มีความเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ) หมายถึงคำสอนของศาสนาพุทธ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ที่ผ่านมาจนถึงองค์ปัจจุบัน ก็มี
คำสอนเช่นเดียวกัน เช่น บทสอนที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายเกิดมา เพราะกฎแห่งกรรม มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นสัจธรรม คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ และคำสอนอื่น ๆ อีกมากมายล้วนแล้วแต่เป็นความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย นี้คือ สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ไม่เป็นทุกขัง ( ไม่ทุกข์ใจ ) หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าผู้ใดศึกษาแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติตาม ไม่มีความทุกข์ใจ มีแต่ความสุข ความสบายใจ เช่น พระองค์ท่านสอนให้มีสติ สัมปชัญญะ คือให้ระลึกได้และรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา สอนให้มีหิริ โอตตัปปะ คือความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป สอนให้มีขันติ โสรัจจะ คือความอดทน และสงบเสงี่ยม , สอนให้มีพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือมีความรัก ความสงสาร พลอยยินดี มีใจเป็นกลาง เป็นต้น นี้คือ คำสอนที่ไม่เป็นทุกข์ ผู้ใดประพฤติ ปฏิบัติตามจนมีคุณธรรมประจำกาย วาจา ใจ แล้วจะมีแต่ความสุข นี้คือ สิ่งที่ไม่เป็นทุกขัง
สิ่งที่ไม่เป็นอนัตตา ( ไม่สูญสลาย ) หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้ง
๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งคำสอนของพระองค์ท่าน ยังคงเป็นสัจธรรม คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ถึงแม้กาลเวลา จะผ่านไปนานสักเพียงใด คำสอนเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะสูญสลาย นี้คือ สิ่งที่ไม่เป็นอนัตตา
สิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ
สิ่งที่ไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง ไม่เป็นอนัตตา คือความจริงที่เกิดขึ้นมานานแสนนาน เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุก ๆ พระองค์ ทรงสอนอย่างเดียวกัน
เป็นอมตธรรม นิรันดรกาล
ท้ายนี้แม่ขออัญเชิญ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และเทพเทวาทั้งหลาย จงปกปักรักษา ลูก ๆ ของแม่ ให้มีความสุข ความเจริญ พ้นจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ และอันตรายต่าง ๆ ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ลูกปรารถนาสิ่งใดในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ ขอให้ลูกมีมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ขอให้ลูก มีปัญญาอันเป็นเลิศ มีดวงตาเห็นธรรม ปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธองค์ จนสำเร็จมรรคผลนิพพาน เข้าสู่แดนวิมุต หลุดพ้นในชาตินี้ด้วยกัน...ทุก ๆ คน...นะลูกนะ...
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖