คำว่า ก็ต้อง ก็ได้ ก็ดี หมายความว่าอย่างไร
๑) คำว่า ก็ต้อง หมายถึง ผู้ที่มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ
จิตใจ จึงทำให้มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีความลุ่มหลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นเหตุให้มีความต้องการอย่างมากมาย เช่น ก็ต้องรวย ก็ต้องสวย ก็ต้องมียศถาบรรดาศักดิ์ ก็ต้องมีตำแหน่งสูง มีสามี มีภรรยา ก็ต้องหล่อ ก็ต้องสวย ก็ต้องมีความรู้สูง ก็ต้องรวย มีลูกก็ต้องเรียนเก่งกว่าลูกคนอื่น ๆ ก็ต้องมีบริวารมาก ก็ต้องมีชื่อเสียง ก็ต้องมีคนสรรเสริญเยินยอ ก็ต้องมีบ้านหลังใหญ่หลายหลัง ก็ต้องมีรถหรูหราราคาแพงหลายคัน ก็ต้องมีอาหารดี ๆ ก็ต้องมีเสื้อผ้าราคาแพง ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เป็นต้น เพื่อตนเองจะได้มีทุกสิ่งทุกอย่างเหนือผู้อื่น เพียงแค่คิดต้องการสิ่งต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ทำให้เป็นทุกข์ใจแล้ว ถ้าได้มาตามความต้องการแล้ว ก็ยังต้องการอยากได้เพิ่มอีกไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้เป็นทุกข์อีก หรือถ้าหากไม่ได้มาตามความต้องการก็เป็นทุกข์มากขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังคิดว่า ต้องมี ต้องได้ ต้องเป็น ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ต้องเป็นทุกข์หาที่สุดไม่ได้ นี้คือ ความหมายของคำว่า “ ก็ต้อง ”
๒) คำว่า ก็ได้ หมายถึง ผู้ที่มีกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง
ครอบงำจิตใจเบาบางลงบ้างแล้ว จึงมีความต้องการน้อยลง เปลี่ยนจากคำว่า “ก็ต้อง” มาเป็นคำว่า “ก็ได้” หมายถึง มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เป็นความต้องการสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นน้อยลง เช่น รวยก็ได้ ไม่รวยก็ได้, สวยก็ได้ ไม่สวยก็ได้, มียศถาบรรดาศักดิ์ก็ได้ ไม่มีก็ได้, มีตำแหน่งสูงก็ได้ ไม่สูงก็ได้, มีสามี มีภรรยา มีลูกก็ได้ ไม่มีก็ได้, มีบริวารมากก็ได้ มีน้อยก็ได้, มีชื่อเสียงก็ได้ ไม่มีก็ได้, มีคนสรรเสริญเยินยอก็ได้ ไม่มีก็ได้, มีบ้านหลังใหญ่หลายหลังก็ได้ มีบ้านหลังเดียวก็ได้, มีรถหรูราคาแพงก็ได้ มีรถยี่ห้อใดก็ได้, มีอาหารดี ๆ ก็ได้ ไม่มีก็ได้, มีเสื้อผ้าราคาแพงก็ได้ ไม่แพงก็ได้, มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากก็ได้ มีน้อยก็ได้, เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกว่า อะไรก็ได้ ทำให้ความทุกข์น้อยลง เพราะกิเลสที่ครอบงำจิตใจอยู่เบาบางลง ความลุ่มหลงมัวเมา ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง นี้คือ ความหมายของคำว่า “ ก็ได้ ”
๓) คำว่า ก็ดี หมายถึง เป็นความรู้สึกนึกคิด ของผู้ที่มีกิเลสเบาบาง หรือชำระกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หมดสิ้นไปแล้ว ไม่มีกิเลสครอบงำจิตใจ
จึงมีความคิดเห็นว่า ทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ทั้งสิ้น จึงไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งใด ๆ ว่า ก็ต้องมี ก็ต้องได้ ก็ต้องเป็น หรือ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่ถ้าหาก ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง หรือไม่มีสิ่งของใด ๆ เลยก็ดี จะได้ไม่มีความทุกข์ เพระฉะนั้น ผู้ที่เป็น อริยชน หรือพระอริยะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอริยะในระดับใดก็ตาม จะมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันว่า ไม่ควรที่จะมีสิ่งใด ๆ เลย แม้แต่ร่างกายของเราที่เป็นตัวตนก็ไม่ควรมี นี้คือ ความหมายของคำว่า “ ก็ดี ”
ดังนั้น ขอให้พิจารณาดูเถิดว่า เรามีความรู้สึกนึกคิดดังที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ “ ก็ต้อง ” “ ก็ได้ ” “ ก็ดี ” หรือไม่
ถ้าผู้ใด มีความรู้สึกนึกคิดว่า “ ก็ต้องมี ก็ต้องได้ ก็ต้องเป็น ” หมายถึง ยังมีกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจอยู่มากมาย ก็ต้องเป็นทุกข์ตลอดกาล
ถ้าผู้ใด มีความรู้สึกนึกคิดว่า “ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ” หมายถึง กิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิตใจ ลดลงบ้างแล้ว ความทุกข์ก็จะคลายลงได้บ้าง
ถ้าผู้ใด มีความรู้สึกนึกคิดว่า “ มีก็ดี ไม่มีก็ดี ” หมายถึง ผู้ที่มีสติปัญญาดี มีกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาบางลงมากแล้ว หรือ สามารถชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจแล้ว เพราะมีคุณธรรมประจำใจ คือ มีความสันโดษ เป็นสันดาน พอใจในสิ่งที่มี ที่ได้ ที่เป็น หมดความลุ่มหลงมัวเมา ไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่มีความทุกข์กับสิ่งใด ๆ มีแต่ความสุข ความสบาย ตลอดกาล
ท้ายนี้แม่ขออัญเชิญ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และเทพเทวาทั้งหลาย จงปกปักรักษา ลูก ๆ ของแม่ ให้มีความสุข ความเจริญ พ้นจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ และอันตรายต่าง ๆ ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ลูกปรารถนาสิ่งใดในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ ขอให้ลูกมีมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ขอให้ลูก มีปัญญาอันเป็นเลิศ มีดวงตาเห็นธรรม ปฏิบัติธรรม ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนสำเร็จมรรคผลนิพพาน เข้าสู่แดนวิมุต หลุดพ้น ในชาตินี้ด้วยกัน...ทุก ๆ คน...นะลูกนะ...
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖