ป่วยกาย ป่วยใจ หมายความว่าอย่างไร
ป่วยกาย หมายถึง ความไม่ปกติของร่างกาย เช่น เจ็บปวดภายนอก มีปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ความพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด แขนขาด ขาขาด เจ็บปวดภายใน มีโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคตับ ไต โรคปอด และอื่นๆ เป็นต้น
การป่วยกาย เป็นเหตุให้เกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน วิตก กังวล กลัวตาย
กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ต้องคิดหาวิธีรักษาพยาบาลโดยทางแพทย์ แผนปัจจุบัน และแผนโบราณ
บางคนเป็นโรคแล้วรักษาหายง่าย บางคนเป็นโรคแล้วรักษาหายยาก บางคนเป็นโรคแล้วรักษาไม่หายเลย
มนุษย์ส่วนใหญ่ที่เจ็บไข้ได้ป่วยทางกายนี้ เป็นเพราะเหตุใด มนุษย์ยังไม่เข้าใจ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนให้รู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บไข้ได้ป่วยทางกายนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงสอนไว้ในศีลข้อที่ ๑ ว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามทรมานสัตว์ ห้ามเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ที่เจ็บป่วย ทางกายเป็นผลมาจากการกระทำผิดศีลข้อที่ ๑ ในหัวข้อ ห้ามทรมานสัตว์ เพราะการทรมานสัตว์ ในอดีตชาติและชาติปัจจุบัน ผลจะส่งให้เราถูกทรมานในชาตินี้ และชาติต่อ ๆ ไป เช่นผู้ใดเคยทำให้สัตว์ หรือมนุษย์อื่นหูหนวก ตาบอด ในอดีตชาติ หรือชาติปัจจุบัน ผู้นั้นก็จะได้รับผลของกรรมนั้น โดยเกิดมาในชาตินี้ จะเป็นคนที่หูหนวก ตาบอด หรือถ้าผู้ใดทำกับมนุษย์และสัตว์ แขนขาด ขาขาดในอดีตชาติ หรือชาติปัจจุบัน ก็จะได้รับผลของกรรม คือเกิดมาในชาตินี้ จะเป็นคนแขนขาด ขาขาด หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องตัดแขน ตัดขา ตามผลของกรรมที่ทำไว้
ส่วนการเจ็บปวดภายใน เช่นโรคกระเพาะ ซึ่งปัจจุบันก็รับประทานแต่อาหารที่ดีมีประโยชน์ กลับเป็นโรคกระเพาะ เพราะผลแห่งกรรมในอดีตชาติส่งผลมา คือผู้นั้นเคยนำอาหารที่เป็นพิษ ให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายกิน เขากินแล้วก็ปวดท้อง ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน จากผลของกรรมนั้น ได้ส่งผลมาให้เกิด เจ็บปวด เป็นโรคกระเพาะในชาตินี้
ส่วนผลกรรมที่ส่งให้เราเป็นโรคกระเพาะในปัจจุบันคือเรากินอาหารที่เป็นพิษ กินอาหารไม่ตรงเวลา และกินอาหารไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเข้าไป หรือมีอารมณ์เครียด ทำให้เกิดโรคกระเพาะในปัจจุบันได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรรมในอดีตชาติ
ส่วนโรคเจ็บปวดภายในอื่น ๆ เช่น โรคตับ ไต ไส้ หรือ อวัยวะอื่น ๆ ภายในก็เกิดจากผลของกรรมเก่า และกรรมใหม่ เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วนี้
ดังจะเห็นได้ว่ามนุษย์บางคน เกิดมาก็เจ็บป่วยตั้งแต่เกิดโดยที่ยังไม่ได้สร้างกรรมใหม่เลย บางคนเกิดมาอายุก็มากแล้ว แต่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ทั้ง ๆ ที่มีการทรมานสัตว์อยู่เป็นประจำ เพราะผลของกรรมใหม่ยังส่งไม่ถึง ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องกรรม ในหัวข้อ กรรมจะส่งผลในชาติปัจจุบัน และชาติต่อ ๆ ไป
ป่วยใจ หมายถึง ความไม่สบายใจ ในความรู้สึกนึกคิด เช่น พ่อแม่ รักลูก อยากให้ลูกเป็นคนดี มีความสุข มีการศึกษาที่ดี มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่พอลูกหญิงชาย ไม่เป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ เป็นคนเกเร คบคนชั่วเป็นมิตร ทั้งหญิงชาย ดื่มสุรา เล่นการพนัน ติดยาเสพติด พ่อแม่กลัดกลุ้มใจ เจ็บปวดทุกข์ทรมานใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ นี้คือ อาการของคนที่ป่วยทางใจ
บางคนอยากรวยเหมือนผู้อื่น หรืออยากรวยมากกว่าผู้อื่น ก็เกิดการร้อนรนกระวนกระวาย เสาะแสวงหา ทรัพย์สมบัติด้วยวิธีการต่างๆ ถ้าไม่ได้ดังที่ปรารถนาก็เกิดทุกข์ ทรมานใจ นี้คือ อาการของคนที่ป่วยทางใจ
บางคนได้ยินได้ฟังเสียงนินทาว่าร้าย ต่าง ๆ นานา ก็เกิดการเจ็บปวดใจ คิดอาฆาตพยาบาท ปองร้ายอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง นี้คืออาการป่วยใจอีกอย่างหนึ่ง
หรือบางคนถูกด่าถูกใส่ร้ายป้ายสี ให้อับอาย ขายหน้า จนเกิดความเจ็บแค้นใจ ทนไม่ได้ มีการโต้ตอบ ทะเลาะวิวาท ในที่สุดก็เป็นศัตรูต่อกัน ต่างฝ่ายต่างกลัวที่จะถูกทำร้าย เพราะความโกรธแค้น ใจจึงเป็นทุกข์เศร้าหมอง นี้คือ อาการของคนที่ป่วยใจอีกอย่างหนึ่ง
คนส่วนใหญ่ป่วยใจกันมาก ในเรื่อง การพลัดพรากจากของรัก เช่น พ่อแม่ สามี ภรรยา บุตร เกิดเสียชีวิต เขาเหล่านั้นจะโศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ทรมาน เพราะความรัก ความผูกพัน บางคนถึงขนาดกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หงอยเหงาเศร้าโศก เป็นเวลานาน นี้คืออาการของคนที่ป่วยใจ
แต่บางคน ป่วยทั้งกาย ป่วยทั้งใจ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ บางอย่าง เช่น ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เมื่อรู้ตัวว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ ก็เสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ตรอมใจ กลัวตาย ในที่สุดคนที่ป่วยทั้งกาย และป่วยทั้งใจก็เสียชีวิตเร็วขึ้น
บางคนป่วยกาย แต่ไม่ป่วยใจ เช่น รู้ว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ก็ไม่สะทกสะท้าน เพราะรู้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ มีสติปัญญาควบคุมกาย วาจา ให้ประกอบแต่กรรมดี คือ คิดดี พูดดี ทำดี พากายนำทรัพย์สมบัติไปให้ทาน นำศีลมารักษากาย วาจา นำพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ามารักษาใจ เพื่อให้ กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ก่อนที่จะสิ้นชีวิต จะมีชีวิตอยู่อีกนานเพียงใด ก็ไม่มีความวิตกกังวลใจ นี้คือ คนที่ป่วยแต่กาย แต่ไม่ป่วยใจ
ป่วยใจ แต่ไม่ป่วยกาย หมายถึง ผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ป่วยทางใจ เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง หน้าตาเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทั้ง ๆ ที่ร่างกายไม่มีโรคร้ายเบียดเบียน แต่ใบหน้าแววตาก็เศร้าหมอง เช่น ความโลภที่ครอบงำจิต คิดแต่อยากจะรวยทางลัด ซื้อหวย ซื้อเบอร์ เล่นพนันทายผลฟุตบอล หรือ การพนันต่าง ๆ ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ กลับกระเสือกกระสน จิตใจกระวนกระวาย อยากได้มากกว่าเดิม ดิ้นรนไปหาพระสงฆ์องค์เจ้า และเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ใบ้หวย หรือขูดต้นไม้ จับคางคกมาทาแป้ง จับเต่ามาหาตัวเลข หรือ เอาเหรียญเงินสมัยเก่า ๆ สมัยโบราณมาเสี่ยงทาย หาเลขหาเบอร์ ถูกบ้าง ผิดบ้าง งวดใดซื้อไม่ถูก ก็กลัดกลุ้ม หน้าตาเศร้าหมอง เป็นทุกข์ใจ จำเป็นต้องหาเงินมาต่อทุนใหม่ จนเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย บางคนไปฉกชิง วิ่งราว จี้ปล้น หรือไปกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัว ถูกจับกุมดำเนินคดีติดคุกติดตะรางในที่สุด นี้คือ ตัวอย่างของคนที่ป่วยใจ แต่ไม่ป่วยกาย
ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูว่า ขณะนี้ท่านป่วยกาย หรือป่วยใจ หรือป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ถ้ารู้ว่าป่วยจงนำพระธรรมคำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารักษากาย รักษาใจของท่าน ให้หายจากโรคทั้งหลายทั้งปวง จิตใจของท่านจะได้คลายทุกข์ และผ่องใสในที่สุด
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖