คุณธรรม ๕ ประการ สนับสนุนความสำเร็จ
(๑) ปัญญา คือ ความรอบรู้ รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
(๒) ความตั้งใจมั่น หมายถึงความจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่องในการกระทำสิ่งนั้นๆ
(๓) สติ สัมปชัญญะ หมายถึง ความระลึกได้ และรู้ตัวว่าเรา กำลังทำสิ่งนั้นอยู่
(๔) ความเพียร หมายถึงความขยันกระทำสิ่งนั้นๆ จนกว่าจะสำเร็จ
(๕) ความอดทน หมายถึงการอดทนต่อความเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจ ในการกระทำสิ่งนั้นๆ
คุณธรรม ข้อที่ ๑. ปัญญา
คนที่มีปัญญา จะทำในสิ่ง ที่เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ครูสอนหนังสือข้างถนน ที่พยายามสอนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เพื่อเด็กเร่ร่อนข้างถนน หรือในสลัม ได้มีโอกาสในการดำรงชีวิต อย่างถูกต้อง แสดงว่าครูที่สอนมีคุณธรรม ดังนี้ มีปัญญา
ครูเหล่านั้นมีความรู้ทางด้านวิชาการ และมีปัญญารู้ต่อว่า ถ้าได้ช่วยสอนหนังสือ เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส เหล่านี้ จะเกิดประโยชน์กับเด็กทุก ๆ คน คือทำให้เด็กมีความรู้ มีอนาคต ส่งผลดีให้แก่สังคม ประเทศชาติ บ้านเมือง เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จึงเกิดความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นธรรมข้อที่ ๒
คุณธรรมข้อที่ ๒. ความตั้งใจมั่น
เกิดการกระทำด้วยความจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง ในการสอนเด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาสข้างถนน หรือในสลัม โดยใช้สติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นธรรมข้อที่ ๓
คุณธรรมข้อที่ ๓. สติ สัมปชัญญะ
สติ สัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้ และรู้ตัวเป็นคุณธรรม ที่มาควบคุมกาย วาจา ใจ ให้ทำการสอนอย่างเต็มความสามารถ เท่าที่จะทำได้ จึงต้องใช้ความเพียรซึ่งเป็นหลักธรรมข้อที่ ๔
คุณธรรมข้อที่ ๔. ความเพียร
ความเพียร คือ เพียรพยายาม ทำหน้าที่ของครูในการสอนวิชา ความรู้ เพื่อเด็กด้อยโอกาส จะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องและเป็นประโยชน์
คุณธรรมข้อที่ ๕. ความอดทน
แม้จะเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจสักเพียงใดก็ตาม ครูต้องอดทนอบรมสั่งสอนเด็กด้อยโอกาสทั้ง หลายเหล่านี้ จนกว่าเด็กจะสำเร็จการศึกษา ในแต่ละชั้น ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อที่ ๕ คือ มีความอดทน
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม ย่อมจะนำความสำเร็จ มาให้กับผู้นั้นในปัจจุบัน และจะส่งผลดีในอนาคตด้วย นี้คือ ตัวอย่างหนึ่ง ของผู้ที่มี คุณธรรม ๕ ประการ อันจะนำความสำเร็จมาให้
ตัวอย่างผู้ที่ขาด คุณธรรม ๕ ประการ เช่น เด็กที่โง่ เขลา ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าการเรียนนำความเจริญมาให้ตนเอง นี่คือ ขาดคุณธรรมประการที่ ๑ จึง ไม่มีความตั้งใจมั่น ไม่มีความ จริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง ในการเรียน ถือว่าขาดคุณธรรมประการที่ ๒ เมื่อไม่ตั้งใจเรียนถือว่าขาดสติสัมปชัญญะ ควบคุมกาย วาจา ใจ ในการเรียน เขาจึงไม่มีความรู้ เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่ตั้งใจเรียน ในเมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ เขาจึงมีความเกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ถือว่าขาดคุณธรรม ประการที่ ๔ อีกทั้ง ไม่มีความอดทน ต่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหล้า ง่วงเหงาหาวนอน คือขาดคุณธรรมประการที่ ๕
ดังนั้น ทำให้ไม่มีความสำเร็จในการเรียน ทำให้ไม่มีความรู้ ไม่มีอนาคต อาจจะไปทำความชั่วต่างๆ เช่น ดื่มเหล้า เล่นการพนัน เสพยาเสพติด หรือเป็นเด็กหัวขโมย สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง และสังคม นี้คือ ผู้ที่ขาดคุณธรรม ๕ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น คุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ สำหรับทุก ๆ ท่าน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่จะนำมาใช้ในการประกอบกิจการงานใดๆ ก็ตาม ในชีวิตประจำวัน จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติตลอดไป
อีกตัวอย่างหนึ่งของการนำ คุณธรรม ๕ ประการ มาใช้ เช่น เรารู้ว่าการให้ทาน ด้วยการทำบุญ ตักบาตร เป็นการสะสมทรัพย์ สมบัติ เป็นการชำระกิเลส ความหลงในทรัพย์ และลดความตระหนี่เหนียวแน่นในทรัพย์สมบัติ ในเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ถือว่าเรา มีปัญญา อันเป็นคุณธรรมประการแรก เราต้องมีคุณธรรมประการที่ ๒ คือความตั้งใจมั่น ที่จะนำอาหารไปทำบุญ ตักบาตรในวันรุ่งขึ้น โดยการเตรียมหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำอาหาร ด้วยความจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง จึงต้องใช้คุณธรรมประการที่ ๓ คือ สติ สัมปชัญญะ ควบคุมกายในการปรุงอาหาร ให้มีคุณภาพ ต้องใช้ความเพียรพยายาม ซึ่งเป็นคุณธรรมประการที่ ๔ เราจึงจะสามารถปรุงอาหารนั้นได้สำเร็จ ถึงแม้จะใช้เวลานานก็ตาม ต้องใช้คุณธรรมประการที่ ๕ มีความอดทน ต่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เหนื่อยยากลำบากกาย อดทนต่อความร้อนที่หน้าเตาไฟ จนกว่าจะปรุงอาหารได้สำเร็จสมบูรณ์ตามที่เราต้องการ เราจึงได้อาหาร เพื่อไปทำบุญ ตักบาตร ตามที่เราปรารถนา นี้คือผู้มีคุณธรรม ๕ ประการนี้โดยสมบูรณ์ จึงนำความสำเร็จ ในการทำความดี คือการให้ทาน มาให้กับผู้นั้น
สำหรับผู้ที่ขาดคุณธรรม ๕ ประการ เช่นเราไม่รู้ว่า การทำบุญ ตักบาตรเป็นการให้ทาน เป็นการสะสมทรัพย์สมบัติ เป็นการชำระกิเลสความหลงในทรัพย์ เป็นการลดความตระหนี่เหนียวแน่น ในทรัพย์สมบัติ ถือว่าเราไม่มีปัญญา ขาดคุณธรรมประการที่ ๑ จึงไม่มีความตั้งใจที่จะทำอาหาร ถึงแม้จะไม่มีอุปสรรคใด ๆ ในการประกอบอาหาร พร้อมอยู่แล้วก็ตาม เมื่อไม่มีความตั้งใจ ก็จะไม่มีการปรุงอาหารเกิดขึ้นแต่อย่างใด ถือว่าขาดคุณธรรมประการที่ ๒ จึงขาดการควบคุมใจและกายที่จะมาประกอบอาหาร คือว่า ขาดสติสัมปชัญญะ ในการประกอบอาหาร อันเป็นคุณธรรมประการที่ ๓ ทำให้ขาดความขยันหมั่นเพียร ขาดความอดทน ถือว่าขาดคุณธรรมประการที่ ๔ และประการที่ ๕ โดยปริยายในการที่จะประกอบการนั้นๆ ดังนั้น ความสำเร็จในการให้ทาน จะไม่เกิดขึ้นกับ
ผู้ที่ขาด คุณธรรม ๕ ประการนี้
คุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ประการที่หนึ่ง คือปัญญาสำคัญที่สุด เมื่อเกิดปัญญาแล้วทำให้เกิดคุณธรรมอีก ๔ ประการคือ ความตั้งใจมั่น มีสติสัมปชัญญะ มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกถือว่าเป็นผู้มีปัญญา ส่วน มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด เช่นเรามีความ เห็นผิด เห็นว่าการเล่นการพนัน เป็นสิ่งที่ดีมีความสนุกสนาน จึงมีความตั้งใจที่จะเล่นการพนันอย่างต่อเนื่อง มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมกายให้นั่งเล่นการพนันได้เป็นเวลานาน ๆ มีความขยันหมั่นเพียรในการเล่นการพนันมี ความอดทน ต่อความหิวโหย ความปวดเมื่อยของร่างกาย สามารถเล่นการพนันได้อย่างหามรุ่งหามค่ำ บางครั้งเล่นกันเป็นเวลานานหลาย ๆ วัน
ความสำเร็จในการใช้คุณธรรม ๕ ประการ ในการประกอบกรรมนั้น ๆ ในทางที่ผิด ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความล้มเหลวในชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา นี้คือผู้ที่นำคุณธรรม ๕ ประการ ในการประกอบกรรมนั้นในทางที่ผิด จึงนำความทุกข์ความเดือดร้อน มาให้กับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสังคมและประเทศชาติบ้านเมือง
ขอทุกท่านจงโปรดพิจารณา ไตร่ตรอง ว่าในการกระทำต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของท่าน ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านมี คุณธรรม ๕ ประการนี้หรือยัง ถ้ามีแล้วท่านได้นำมาใช้ในทางที่ถูกหรือไม่ ถ้าท่านนำคุณธรรม ๕ ประการนี้ มาใช้ในทางที่ถูกและใช้กับการกระทำทุกอย่างของท่าน ความสำเร็จและความเจริญจะเกิดขึ้น กับท่านอย่างแน่นอน
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖