เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เกิดขึ้น หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้
ตั้งอยู่ หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ จะตั้งอยู่เป็นเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น
ดับไป หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ย่อมดับไปตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับอายุขัยของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มี ๒ อย่าง คือรูปธรรม และนามธรรม
๑. รูปธรรม คือ สิ่งที่มองเห็น และจับต้องได้
๒. นามธรรม คือ สิ่งที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ ไม่มีรูปแต่มีชื่อ
๑) รูปธรรม คือธรรมชาติของรูป รูปเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีการสืบพันธ์ เป็นเหตุ ให้วิญญาณมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา จะตั้งอยู่ในครรภ์ ๙ เดือน เมื่อครบกำหนดก็จะคลอดออกมาเป็นรูปร่างของมนุษย์ เป็นเพศหญิง เพศชาย นี้คือการเกิดขึ้นแล้วของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อาการ ๓๒ เป็นตัวเป็นตน จากวัยทารกไปสู่วัยเด็ก จากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาว แล้ววัยแก่ชรา นี้คือความตั้งอยู่ของร่างกายมนุษย์ (รูป) จะตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ กฎแห่งกรรมในอดีตส่งผลมา และกรรมปัจจุบันที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อแก่ชราหรือเจ็บป่วยก็ต้องตาย ร่างกายก็ต้องสูญสลายไปในที่สุด นี้คือ ความดับของรูป เมื่อมีตัวตนที่เรียกว่ารูป เกิดขึ้นแล้วก็เกิดความจำเป็น ที่จะต้องมีสิ่งต่าง ๆ มาเลี้ยงรูป คือ ร่างกายนี้ให้เจริญเติบโต และดำรงชีวิตอยู่ได้ นั่น คือ ปัจจัยสี่ อันประกอบไปด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรน ขวนขวายหาปัจจัยสี่ เพื่อให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ต่อไป ถึงแม้นว่าจะมีปัจจัยสี่มากมาย เช่น มีอาหารดีจำนวนมากมาย มีบ้านเป็นสิบหลัง มีเครื่องนุ่งห่มดี ๆ เป็นร้อยเป็นพันชิ้น มียารักษาโรคอย่างดี สามารถรักษาโรคให้หายได้ทุกโรค ปัจจัยสี่นี้ถึงแม้จะมีมากมาย ก็ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา ไม่สามารถที่จะยับยั้งความแก่ ความเจ็บ ความตาย เอาไว้ได้ ทุกชีวิตก็จะต้องดับสูญสลายไป ตามกาลเวลา และกฎแห่งกรรม ตายแล้วก็ไม่สามารถที่จะนำทรัพย์สมบัติใดๆ ติดตัวไปได้เลย
นี้คือ ความหมายของคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามธรรมชาติของรูป ที่เราทุกคนต่างยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเป็นตน
๒) นาม คือสิ่งที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ มีชื่อแต่ไม่มีรูป แต่มีอยู่ในตัวตนบุคคลจริง เช่น
- เวทนา หมายถึง ความสุข ความทุกข์ หรือเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้น กับมนุษย์ทุกคน นี้คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง
- สัญญา คือ ความจำได้ เช่น จำทุกข์ จำสุข จำรัก จำชัง จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง
- สังขาร คือ เครื่องปรุงแต่งจิตมี กิเลสทั้ง ๓ อย่าง คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำหน้าที่คอยปรุงแต่งจิต ให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ นี้คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง
- วิญญาณ คือ ความรู้สึก มีหน้าที่รับรู้จากสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ อายตนะภายใน มากระทบกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เมื่อทั้งสองอย่างกระทบกันแล้วก็เกิดเป็นอารมณ์ พอใจ ไม่พอใจ นี้คือนามธรรมอย่างหนึ่ง
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่เรียกกันว่า ทุกขเวทนา เช่น ทุกข์เพราะหิวอาหาร เกิดจากร่างกายขาดอาหาร เมื่อหิวความทุกข์ก็เกิดขึ้น และจะตั้งอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีอาหารมาเลี้ยงร่างกาย เมื่ออิ่มแล้ว ความทุกข์ที่เกิดจากความหิวนั้นจึงจะดับไป
สุขเวทนา คือความพอใจ รักใคร่ ในสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า สุขที่อิงอามิส เช่นพอใจในรูปที่สวยงาม พอใจในเสียงที่ไพเราะ พอใจในกลิ่นที่หอม พอใจในรสชาติอาหารที่อร่อย พอใจในสัมผัส หนาว ร้อน อ่อน แข็ง ความพอใจเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วและตั้งอยู่ในจิต เป็นความสุขแล้ว สุขจะดับไป ต่อเมื่อเกิดความไม่พอใจในสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว เรียกว่า สุขดับไป
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งรูปและนาม จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุด
บางคนมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เรา เขา ความสุขหรือความทุกข์ ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ได้นาน เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิตของมนุษย์มาหลายชาติแล้ว ถ้าไม่มีการชำระกิเลส ก็จะเป็นเหตุให้เวียนว่าย อยู่ในวัฏสงสาร มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่จบสิ้น ความทุกข์ ความสุขจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้เลย นอกจากผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน เข้าใจในกฎแห่งกรรม รู้ว่าตัวเองมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิต เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความสุข รู้ว่าความสุขที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความสุขที่อิงอามิส ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง จึงพยายามประพฤติปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาชำระกิเลสที่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ให้หมดสิ้นไป นี้คือ การปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ให้ดับไปในที่สุด
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖