ทำใจ หมายความว่าอย่างไร
คำว่า “ทำใจ” ที่คนทั่วไปพูดกันอยู่เสมอ ๆ หมายความว่าอย่างไร
ทำใจ หมายความว่า การยอมรับสภาพความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อเราต้องสูญเสียสิ่งต่าง ๆ อันเป็นที่รักใคร่ พอใจ ทั้งหลายทั้งปวง เช่น อาจเป็น บุตร สามี ภรรยา พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือคนในครอบครัว ตายจากเราไป ผู้คนที่เป็นญาติพี่น้อง ก็จะเกิดความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจมากเป็นเวลานาน
การที่จะทำใจให้หายจากความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นต้องมีสติปัญญาดี เข้าใจในความเป็นจริง ดังคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสสอนไว้ว่า ทุกคนเกิดมาต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทุกคน แม้แต่ตัวเรา ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เพราะเป็นธรรมชาติที่เป็นจริงของโลกนี้ ที่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอาศัยอยู่
เพราะฉะนั้น “เราต้องทำใจ” คือยอมรับความเป็นจริง ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีใครหนีพ้นแม้แต่คนเดียว หากผู้ใดพิจารณาไตร่ตรองได้ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจก็จะคลายลง ถ้าพิจารณาอยู่เนือง ๆ ความทุกข์ที่มีอยู่ก็จะหมดไปในที่สุด นี้คือ “ผู้ที่คิดได้ ปลงตก” หรือที่เรียกว่า “ทำใจได้”
ถ้าหากผู้ใด ขาดสติปัญญา “คิดไม่ได้ ปลงไม่ตก” ก็จะเป็นทุกข์ มีความโศกเศร้าเสียใจ เป็นเวลานาน ๆ หรืออาจจะตลอดชีวิต บางคนอาจจะเสียสติ สัมปชัญญะ เป็นบ้าไปเลยก็ได้ นี้คือผู้ที่ไม่มีสติปัญญา หรือที่เรียกว่า “ทำใจไม่ได้” ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับมนุษย์ทั่วไปในโลกนี้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติเงินทอง จะมากหรือน้อยก็ตาม เราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ โศกเศร้าเสียใจมากเช่นเดียวกัน เราต้องทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยนำพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” มาพิจารณา
วิธีพิจารณา อนิจจัง คือความไม่เที่ยงของสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม กาลเวลาและสภาพความเป็นจริง ไม่มีอะไรจะเที่ยงแท้แน่นอน
วิธีพิจาณา ทุกขัง คือความทุกข์ที่เราไปยึดมั่นถือมั่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าเป็นของเราคงจะทำให้เรามีความสุข แท้ที่จริงแล้ว “เรามีความสุขกับสิ่งใ ด ๆ เราก็จะมีความทุกข์กับสิ่งนั้น ๆ” เช่นเรามีทรัพย์สมบัติเงินทอง บ้าน รถยนต์ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็อยากได้เพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้เป็นทุกข์เพราะกลัวทรัพย์สมบัติเงินทองเหล่านั้น จะสูญหายจากเราไป แล้วยังเป็นทุกข์ต่อไปอีก เพราะกลัวว่าจะถูกจี้ ปล้น หลอกลวง เอาทรัพย์สมบัติของเราไป นี้คือ ความทุกข์ที่เกิดจากเรามีทรัพย์สมบัติต่าง ๆ
วิธีพิจารณา อนัตตา การพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลว่า อนัตตา คือความสูญสลาย ไร้ตัวตน ให้เห็นเป็นความจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ ต้องสูญสลายหมดสิ้นไป ตามกาลเวลาแม้แต่ตัวเรา ไม่มีอะไรจะจีรังยั่งยืน ถาวรตลอดไปเลย
พิจารณาให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของใคร เมื่อทุกคนตายไปแล้ว เอาอะไรติดตัวตามตนไปไม่ได้เลยแม้แต่อย่างเดียว นอกจากกรรมดี กรรมชั่วเท่านั้น ถ้าผู้ใดพิจารณาได้ ดังที่ได้กล่าวมาทั้งสามประการนี้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความทุกข์ ความโศกเศร้า เสียใจ ทั้งหลายที่มีอยู่ก็จะหมดไปในที่สุด นี้คือผู้ที่มีสติปัญญาดี “คิดได้ ปลงตก” หรือที่เรียกว่า “ทำใจได้”
ส่วนผู้ที่ไม่มีสติปัญญา “คิดไม่ได้ ปลงไม่ตก” เมื่อมีการสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและสมบัติอื่น ๆ ก็จะเป็นทุกข์ โศกเศร้าเสียใจ เป็นเวลานาน อาจเสียสติสัมปชัญญะ เป็นบ้า หรือตรอมใจตายก็เป็นได้ เรียกว่าผู้ที่ “ทำใจไม่ได้” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกมากมายที่ท่านจะใช้ปัญญาพิจารณา ให้เห็นเป็นความจริงแล้วยอมรับ ความทุกข์และความโศกเศร้าเสียใจก็จะไม่เกิดขึ้นกับท่านอีกต่อไป
ส่วนผู้ที่ได้รับความสุข ความพอใจ เมื่อได้ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็จะเกิดความปิติยินดี ดีอกดีใจ จัดงานฉลองกันใหญ่โต เช่น ได้สามี ภรรยา ได้ลูก และได้ลาภ ได้ยศ เป็นต้น ก็ต้องพิจารณาให้เห็นเป็นความจริงเสียก่อนว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ได้มานี้ เป็นของ นอกกาย ที่มนุษย์สมมุติขึ้น ว่ามีค่ามีประโยชน์ มากมาย แต่สิ่งต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ต้องมีอันพลัดพรากจากเราไปทั้งหมดทั้งสิ้น ทุกคนควรทำใจยอมรับความเป็นจริง ที่จะเกิดขึ้นกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อคิดได้ ปลงตกแล้ว ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่นลง จะไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งนั้น ๆ เมื่อได้สิ่งใดมา ก็จะไม่ดีอกดีใจจนเกินไป หรือเมื่อเสียสิ่งใด ๆ ไป ก็จะไม่เสียอกเสียใจมากเกินไป นี้คือผู้ที่มีสติปัญญาดี เข้าใจในสัจธรรม ในความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เพราะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น
บรรณานุกรม
๑) นวโกวาท ( ฉบับประชาชน ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ
พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๔๓
๒) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบู๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ๙๔๗ / ๑๕๘-๑๕๙ หมู่ ๑๒ ถนน บางนา-ตราด เขต บางนา แขวงบางนา กรุงเทพฯ (๑๐๒๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๖
๓) หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นตรี เรียบเรียงโดย คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ๖๗๙/๗๑-๗๔ ถนนประชาอุทิศ ซอย ๔๕ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ (๑๐๑๔๐) พ.ศ. ๒๕๔๖