การฝึกสมาธิ
หนุ่ม |
การฝึกสมาธิ เพิ้ออะไร มีประโยขน์อย่างไร เพื่อนกัลญาณมิตร ...ช่วยบอกที... |
แม่ชี ประยงค์ |
สมาธิ หมายถึง การฝึกจิตให้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรืออยู่กับบทภาวนาบทใด บทหนึ่ง ที่ถูกกับจริต ของแต่ละคน หรือทำตามครูอาจารย์ที่สอน ซึ่งมีวิธีการแตกต่างกันไป การฝึกสมาธิต้องรู้เจตนาของตนเองว่า เราฝึกสมาธิเพื่ออะไร ต้องรู้ต่อไปอีกว่า มีอะไรบ้างที่เป็นองค์ประกอบในการฝึกสมาธิ องค์ประกอบในการฝึกสมาธิ มีดังนี้ ๑. กาย หมายถึง ร่างกายที่แข็งแรง มีสติดี แม้แต่คนพิการ ทีมีสติดี ก็สามารถฝึกสมาธิได้ ถ้ามีจิตใจตั้งมั่น ๒. จิต หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ให้คิดถึงบทภาวนาอย่างเดียว ตามที่ผู้ฝึกสมาธิกำหนดภาวนา เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหัง เป็นต้น ๓. สติ หมายถึง ความระลึกได้ ระลึกรู้ว่าขณะนี้กำลังควบคุม กาย วาจา ใจ ให้อยู่กับบทภาวนา เพื่อให้เกิดความสงบ ๔. ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ รู้ว่าการฝึกสมาธิจะเกิดประโยชน์ ส่วนจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ฝึกสมาธิ เมื่อท่านได้เข้าใจในองค์ประกอบ ของการฝึกสมาธิแล้ว ต้องมาดูเจตนาของผู้ฝึกสมาธิ ว่าฝึกเพื่ออะไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ๔.๑ ฝึกสมาธิ เพื่อให้เกิดโชคลาภ ๔.๒ ฝึกสมาธิ เพื่อแก้กรรม ๔.๓ ฝึกสมาธิ เพื่อปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ๔.๔ ฝึกสมาธิ เพื่อเข้าฌาน ๔.๕ ฝึกสมาธิ เพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ๔.๖ ฝึกสมาธิ เพื่อไปสวรรค์ ไปนิพพาน ๔.๗ ฝึกสมาธิ เพื่อพิจารณาธรรม ให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ๑. ฝึกสมาธิเพื่อทำให้เกิดโชคลาภ คนส่วนมากยังเข้าใจผิดว่า การฝึกสมาธิจะทำให้มีทรัพย์สมบัติ เงินทอง แท้ที่จริงแล้ว การฝึกสมาธิก็เพื่อทำให้จิตสงบไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตสงบลงบ้างแล้ว ก็จะทำให้ทุกข์ที่มีอยู่ คลายลงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อจิตสงบแล้ว จะบันดาลทรัพย์สมบัติ เงินทองให้กับเราได้ แต่การฝึกสมาธิก็ถือว่าเป็นการประกอบกรรมดี อย่างหนึ่ง ขณะที่ฝึกสมาธิอยู่นั้น ไม่ได้พากาย วาจา ไปทำกรรมชั่ว เป็นเพียง ฝึกสติ ให้ควบคุมจิตให้อยู่ที่เดียวเท่านั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญา ๒. ฝึกสมาธิเพื่อแก้กรรม บางท่านยังเข้าใจผิดคิดว่า การฝึกสมาธิสามารถแก้กฎแห่งกรรมได้ ความจริงแล้ว กรรมดี กรรมชั่ว ทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่สามารถจะแก้ได้เลย กรรมดีที่ทำไปแล้ว จะแก้ให้เป็นชั่วก็ไม่ได้ กรรมชั่วที่ทำไปแล้วจะแก้ให้เป็นกรรมดี ก็ไม่ได้ เช่นกัน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนไว้ว่า ใครทำกรรมอันใดไว้ จะเป็นบุญ หรือเป็นบาป จักต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป กรรมเป็นหนี้ที่ต้องใช้ด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นมาใช้หนี้แทนกันไม่ได้ ดังจะเห็นได้จาก หลวงปู่ หลวงตาทั้งหลาย ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังต้องใช้หนี้กรรมเก่า บางรูปก็อาพาธด้วยโรคต่างๆ หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะกรรมเก่าในอดีตส่งผล มาให้ได้รับทุกข์ทรมานกว่าจะใช้หนี้กรรมเก่าหมด ก็เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อเป็นการยืนยันว่า การฝึกสมาธิไม่สามารถแก้กฎแห่งกรรมได้ ดังในพุทธประวัติ ที่ ๓. ฝึกสมาธิเพื่อปลุกเสกเครื่องรางของขลัง การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ เมื่อฝึกจิตให้สงบได้นานๆ จิตจะมีพลัง สามารถที่จะใช้กระแสจิตให้ทำอะไรก็ได้ เช่น อธิษฐานจิตให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นเครื่องรางของขลัง ดังที่ ครูบาอาจารย์ปลุกเสกวัตถุมงคล ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล จนถึงปัจจุบัน อนึ่งผู้ทีฝึกสมาธิ มีเจตนาที่จะปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพื่อการค้า หรือต้องการให้คนเคารพนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ การทำอย่างนี้เรียกว่า “เดรัจฉานวิชา” ผู้ที่ทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นผู้มีจิตหยาบ ลุ่มหลง มัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ใช้สมาธิไปในทางที่ผิด หลอกลวงประชาชน คนจำพวกนี้ใน ไม่ช้า ความเสื่อมก็จะตามมาในที่สุด แต่ในกรณีที่ พระสงฆ์ ที่เป็นพระอริยะ ซึ่งมี เมตตา กรุณา ต่อมนุษย์ทั้งหลาย อยากให้มีไว้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และเป็นวัตถุมงคลไว้คุ้มครองป้องกันภัยต่าง ๆ ท่านจึงอธิษฐานจิตลงในวัตถุสิ่งของ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ด้วยความมีเมตตา กรุณา อันสูงส่ง ต้องการให้มนุษย์มีความสุข และพ้นจากอันตรายต่างๆ ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ของท่าน ส่งผลให้วัตถุมงคลเหล่านั้น มีพุทธานุภาพตามไปด้วย พระอริยสงฆ์ทั้งหลายผู้มีจิตอันเจริญแล้ว ไม่มีวันเสื่อม มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทางจิตต่อไป จนกว่าจะละสังขารดับขันธ์ เข้าสู่นิพพาน ในที่สุด ๔. ฝึกสมาธิเพื่อเข้าฌาน คำว่า “ฌาน” หมายถึง การฝึกจิตให้สงบนิ่งอยู่ที่เดียว มีอารมณ์เดียว มีขั้นตอนของการเข้าฌาน ดังนี้ ๔.๑ ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา ๔.๒ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคตา ๔.๓ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข และ เอกกัคตา ๔.๔ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคตา ถ้าผู้ทำสมาธิมีความตั้งใจมั่นที่จะเข้าฌาน ซึ่งจะต้องผ่านอารมณ์ต่างๆ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เข้าสู่อุเบกขาและเอกัคตา คือ มีอารมณ์เดียว มีสติมั่นคงระลึกรู้อยู่อารมณ์เดียว ที่เรียกว่า เอกัคตา จิตจะนิ่งอยู่ได้นานเท่าที่ผู้ฝึกสมาธิกำหนด เช่น กำหนดนั่ง ๓ วัน ๗ วัน เป็นต้น ที่เรียกว่า เข้าฌาน ถ้าฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ โดยไม่ผ่าน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แม้นั่งนานเป็นเดือน เป็นปี ก็ไม่สามารถจะเข้าฌานได้ และไม่เกิดปัญญา ๕. ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ คำว่า “อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หมายถึง ความพิเศษที่เกิดขึ้น จากความตั้งใจ ทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่น หายตัวได้ เหาะเหิรเดินอากาศได้ แปลงกายได้ เป็นต้น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง แต่ต้องมีพลังสติ พลังจิต สูงมากจึง จะเกิดเป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ แต่ถ้าหากผู้ฝึกสมาธิ ไม่มีความตั้งใจมั่น ไม่มีความเพียร ไม่มีความอดทน แม้ฝึกสมาธินานจนชั่วชีวิต ก็ไม่สามารถเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้เลย ๖. ฝึกสมาธิเพื่อให้ไปสวรรค์ นิพพาน สวรรค์ คือ วิมานที่สถิตของวิญญาณที่มีบุญ ผู้จะไปสวรรค์ได้ ก็คือ ผู้ที่มีทาน ศีล สมาธิ มีสติ ปัญญา พอสมควร และมีคุณธรรมประจำใจอีกหลายประการ ดังนั้นการฝึกสมาธิเพียงอย่างเดียวไม่อาจจะไปสวรรค์ได้ ถ้าใครคิดว่าการฝึกสมาธิแล้วจะได้ไปสวรรค์นั้น เป็นการเข้าใจผิด หรือบางคนเข้าใจว่า ฝึกสมาธิ แล้วจะไปนิพพานได้ เป็นการเข้าใจผิดอันใหญ่หลวง ที่จริงแล้วนิพพาน หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง ผู้ที่จะไปนิพพานได้จะต้องชำระกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ในชาตินี้ที่ เรียกว่า สำเร็จอรหันต์ เมื่อละสังขาร ดับขันธ์ ก็เข้าสู่นิพพาน ดังนั้นการที่ฝึกสมาธิ เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถจะไปสวรรค์หรือนิพพานได้ ขอให้ท่านประพฤติปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อชำระกิเลส ที่ครอบงำจิต อันเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ ให้หมดสิ้นไป ท่านจึงจะเข้าสู่นิพพานได้ ๗. ฝึกสมาธิเพื่อพิจารณาธรรม ให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง หมายความว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิเมื่อจิตสงบแล้ว นำพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพิจารณา เช่น ท่านสอนให้รู้จักกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิต ท่านสอนให้รู้จักวิธีชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไปจากจิต ท่านสอนให้ละชั่วประพฤติดี ท่านสอนให้มีศีล มีธรรมประจำใจ ท่านสอนให้มีพรหมวิหาร ๔ ,ท่านสอนให้มี หิริโอตตัปปะ ,ท่านสอนให้พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ,ท่านสอนให้พิจาณาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ,ท่านสอนให้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา , ท่านสอนให้เรามีความเพียรสี่อย่าง ท่านสอนให้รู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ สมุทัย คือ เหตุของการเกิดทุกข์ กามตัณหา คือ ติดอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ภวตัญหา คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น วิภวตัญหา คือ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น นิโรธ คือ ความดับทุกข์ได้หมด จนสิ้นเชิง มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ มีองค์ ๘ ประการ คือ ๑. ปัญญาเห็นชอบ ๒. ดำริชอบ ๓. เจรจาชอบ ๔. การงานชอบ ๕. เลี้ยงชีพชอบ ๖. ทำความเพียรชอบ ๗. ตั้งสติชอบ ๘. ตั้งใจชอบ และยังมีคำสอนอีกมากมายรวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ( ขันธ์คือ บทหนึ่ง , อย่างหนึ่ง) ผู้ที่ต้องการฝึกสมาธิให้เกิดปัญญา ต้องนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพิจารณาว่า สิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นสัจธรรม เป็นธรรมชาติที่สามารถพิสูจน์ได้ เมื่อเรานำพระธรรมมาพิจารณาเห็นจริง ด้วยเหตุ ด้วยผล ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นี่คือลักษณะของ ผู้ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริง ตามพระธรรมคำสอน แต่ละข้อ แต่ละบท แล้วนำมาปฏิบัติตาม จนเกิดปัญญาเป็นเลิศ สามารถชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดจากจิตใจ นี่เรียกว่า การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริง |
แม่ชี ประยงค์ |
การฝึกสมาธิเพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ ผิดหรือถูก แม่ขอแนะนำว่า การฝึกสมาธิ เพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆนั้น เป็นการเข้าใจผิด การฝึกสมาธิที่ถูกต้อง คือ การฝึกจิตให้สงบอยู่ที่เดียว เป็นการฝึกสติให้ควบคุมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะจิตมีหน้าที่คิดตามสิ่งที่มากระทบ เมื่ออายตนะภายนอก กระทบกับอายตนะภายใน เช่น ตากระทบรูป วิญญาณรับรู้ จิตก็จะคิดตามรูปที่เห็น จะเกิดอารมณ์พอใจ หรือไม่พอใจ ขึ้นอยู่กับเครื่องปรุงแต่งจิต คือกิเลสทั้ง ๓ อย่าง มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ครอบงำจิตในขณะนั้น เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก อาหารกระทบลิ้น เย็น ร้อนอ่อน แข็งกระทบกาย เรื่องราวต่างๆ กระทบใจ แต่ละวันสิ่งที่มากระทบ หลายรูป หลายเสียง หลายกลิ่น หลายรส หลายอย่างกระทบกาย หลายเรื่องกระทบจิตใจ ทำให้จิตคิดตามสิ่งที่มากระทบ เป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวาย กระสับกระส่าย เป็นทุกข์ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีอุบายต่างๆ ที่ทำให้จิตสงบ โดยใช้บทภาวนาแล้วแต่ใครจะใช้บทใดบทหนึ่ง เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ เป็นต้น หรือ วิธีเพ่งกะสิน เพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งไฟ เป็นต้น ฝึกสมาธิได้ทุกอิริยาบท เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน ใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับอริยาบทนั้น และใช้ปัญญาพิจารณาดูว่าจิตคิดตามที่เรากำหนดหรือไม่ ผู้ใดที่จิตฟุ้งซ่าน ก็จะคิดถึงอดีตและอนาคต จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน เราต้องใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับบทภาวนาอย่างเดียว ต้องฝึกสมาธิบ่อยๆ และนานๆ เพื่อให้จิตสงบ ตามที่เราต้องการ ที่เรียกว่า สมาธิ การฝึกสมาธิสิ่งที่เราควรเห็นคือ เห็นจิต เห็นอารมณ์ เห็นกิเลส เห็นสติ เห็นปัญญา เช่น เห็นจิตคิดอะไรในขณะนั้น เห็นอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ เห็นกิเลสข้อใด ครอบงำจิตในขณะนั้น เห็นสติระลึกรู้ว่า กาย วาจา ใจ สงบหรือไม่ ปัญญาจะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือจิต ให้คิดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ ไม่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ควบคุมอารมณ์ไม่ให้หวั่นไหวไปตามกิเลส ใช้สติให้คอยควบคุม กาย วาจา ใจ ผู้ที่มีปัญญามากก็สามารถควบคุมการทำสมาธิได้ จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน และสงบในที่สุด ผู้ที่มีสติปัญญาน้อยไม่สามารถที่จะควบคุมกาย วาจา ใจ ได้ การฝึกสมาธิก็ไม่เกิดผล จิตจะฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของกิเลส จึงเกิดความล้มเหลวในการทำสมาธิ ดังที่เราจะได้ยินกันเสมอว่าฉันฝึกสมาธิไม่ได้ จากหลายคนที่หัดฝึกสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้เราต้องฝึกสติ และศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ เพื่อให้เกิดปัญญามากขึ้น จะได้นำมาช่วยเหลือจิตที่ถูกกิเลสครอบงำต่อไป การฝึกสมาธิให้จิตสงบอย่างเดียว ปัญญาไม่เกิด ปัญญาจะเกิดได้ต้องนำ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาพิจารณาแล้วปฏิบัติตาม แต่ละบทเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงตามพระองค์ท่าน เช่น ท่านสอนให้เรารู้ว่าตัวเราไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นเพียง ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เราต้องพิจาณาให้เห็นจริง ท่านสอนให้เราพิจารณาให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นอนัตตา ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุด การฝึกสมาธิเมื่อจิตสงบ จึงใช้ให้จิตพิจารณาธรรมต่างๆ แล้วเห็นสัจธรรม นี่คือ ความเห็นที่ถูกต้องเพราะเกิดปัญญา การฝึกสมาธิเพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ เช่น เห็นแสง สี เห็นเปรต เห็นเทวดา เห็นพระพุทธรูป หรือเห็นสิ่งอื่น ๆ ก็ตาม เป็นความเห็นที่ไม่เกิดประโยชน์ อาจารย์บางท่านสอนให้นั่งสมาธิ เพื่อให้เห็นเทวดา ผู้นั่งสมาธิก็เกิดจินตนาการวาดภาพเทวดาขึ้นในจิต ภาพเทวดาก็เกิดขึ้นเป็นมโนภาพ เพราะจิตประหวัด เป็นเหตุให้ผู้นั่งสมาธิ หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสำเร็จแล้ว ที่จริงเป็นการหลอกตัวเอง และหลอกผู้อื่นด้วย การนั่งสมาธิดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย กลับเกิดโทษกับตนเอง ทำให้ลุ่มหลง มัวเมาในตัวตน กิเลสเพิ่มขึ้น จิตไม่มีโอกาสสงบ ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะจิตไปติดอยู่กับมโนภาพต่างๆ ที่นั่งสมาธิแล้วเห็น แม่ขอเอิญเชิญ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และเทพเทวาทั้งหลาย จงปกปักรักษา |