ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบและเพื่อให้เกิดปัญญา ควรทำอย่างไร
หนุ่ม |
ฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตสงบ และการฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา มีประโยชน์และแตกต่างกัน |
แม่ชีประยงค์ |
... แม่เคยได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรมด้านการฝึกสมาธิ จนเข้าใจในพระธรรม คำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอสมควร เช่น จากการที่เคยนั่งสมาธิแล้ว จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์และสัญญาต่าง ๆ ที่ผ่านมาที่เคยจดจำที่เคยพูด เคยคิด เคยทำ ต่าง ๆ บางครั้งก็ ปรุงแต่งไปในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง (อนาคต) ทำให้จิตสับสนวุ่นวายกับการปรุงแต่งของกิเลสจนทำให้จิต ไม่สงบและไม่เป็นสมาธิ แต่เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่จะกล่าวมาต่อไป นี้ ทำให้แม่และคณะญาติธรรม มีจิตที่สงบและเป็นสมาธิได้เร็ว และในขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นฐานทำให้เกิดปัญญาที่เกิดจากการนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาพิจารณาทำให้บรรเทาและคลายทุกข์ที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี ก่อนอื่นแม่ขอให้ลูก ๆ รู้จักและทำความเข้าใจในความหมายของ สมาธิ คำว่า สมาธิ หมายถึง การทำจิตให้สงบ และจะต้องมาทำความรู้จักกับ "จิต" ก่อนว่า "จิต" คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร เหตุใดจิตจึงฟุ้งซ่าน ร้อนรน กระวนกระวาย อะไรเป็นเหตุทำให้จิตเป็นทุกข์ แล้วจะหาวิธีทำให้จิตคลายทุกข์ได้อย่างไร การฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิ มีอยู่ด้วยกัน ๒ วิธี คือ ๑. การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ (สมถกรรมฐาน) ๒. การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา (วิปัสสนากรรมฐาน) การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ หมายถึง การฝึกสติ ควบคุมจิตให้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ตามที่เรากำหนด เช่น ภาวนาว่า พุทธ-โธ สัมมา - อรหัง หรือ ยุบหนอ - พองหนอ เป็ นต้น เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ ฝึกสมาธิ เพราะรู้ว่า ตามธรรมชาติแล้ว จิตของมนุษย์จะฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาเพราะถูกอำนาจของกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ครอบงำ พระองค์จึงทรงมีอุบายให้ใช้สติควบคุมจิตโดยการฝึกสมาธิ ก่อนที่จะเริ่มการฝึกสมาธิจะต้องรู้วัตถุประสงค์เสียก่อนว่า ฝึกสมาธิเพื่ออะไร ถ้าจะ ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ต้องทำความเข้าใจและต้องรู้จัก นามธรรมทั้ง ๕ อย่าง รวมถึงการทำงานของ นามธรรมทั้ง ๕ อย่าง ดังต่อไปนี้ ๑. รู้จักจิต ๒. รู้จักสัญญา ๓. รู้จักกิเลส ๔. รู้จักสติ ๕. รู้จักปัญญา ๑. รู้จักจิต จิต เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งไม่มีตัวไม่มีตน ซึ่งมีหน้าที่คิดตามสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้รับกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรสอาหาร กายสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จิต ก็จะคิดตามสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ ๒. รู้จักสัญญา สัญญา คือความจำ เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งไม่มีตัวไม่มีตน มีหน้าที่จำสิ่งต่าง ๆ เช่น จำทุกข์ จำสุข จำอดีต จำปัจจุบัน เป็นต้น ๓. รู้จักกิเลส กิเลส คือความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งไม่มีตัวไม่มีตน เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่าน ร้อนรกระวนกระวาย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง รักใคร่พอใจกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้ จิต เศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา ๔. รู้จักสติ สติ คือความระลึกได้ เป็นนามธรรมอีก อย่างหนึ่งที่ไม่มีตัว ไม่มีตน มีหน้าที่ระลึกรู้ว่า จิตกำลังคิดอะไร วาจากำลังพูดอะไร กายกำลังทำอะไร เช่น จิตคิดอยากได้ของ ผู้อื่น สติระลึกรู้ว่า จิตกำลังคิดไม่ดี หรือจิตกำลังคิดจะนำสิ่งของต่าง ๆ ไป ให้ทาน สติระลึกรู้ว่า จิตกำลังคิดดี กาย วาจา ก็เช่นเดียวกัน จะทำหรือจะพูด ผิดหรือถูก ชั่วหรือดี สติ ก็จะระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ๕. รู้จักปัญญา ปัญญา เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน ปัญญาเป็นความรู้ คือรู้ธรรมชาติและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราและเกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ผู้มีความรู้น้อยก็เรียกว่า มีปัญญาน้อย ผู้มีความรู้มากก็เรียกว่า มีปัญญามาก ส่วนผู้ใดจะมีความรู้มาก หรือมีความรู้น้อย ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาหาความรู้ ทั้งทางโลก และทางธรรม เมื่อรู้จักและเข้าใจ นามธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ อย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ อย่างยิ่งในการฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิ มี ๔ อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ขั้นตอนของการนั่งสมาธิ คือการนั่งโดยใช้ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายหรือ นั่งในท่าใด ก็ได้ ที่นั่งได้นานที่สุดเมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วก็หลับตา ภาวนาว่า พุทธ -โธ ขณะที่หายใจเข้า ภาวนาว่า พุทธ หายใจออกภาวนาว่า โธ แล้วเอาสติมาควบคุม จิต ให้อยู่กับลมหายใจเข้า - ออก หายใจเข้าสติก็ระลึกรู้ หายใจออกสติ ก็ระลึกรู้ พร้อมกับ พุทธ และ โธ หรือบทอื่น ๆ ที่ถูกกับจริตของตน เมื่อ จิต ไม่อยู่กับบทภาวนา เนื่องจาก จิต ถูก สัญญา (ความจำ) มาเตือนทำให้คิด เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาซึ่งเป็นอดีต จะมีความรู้สึกพอใจก็ตามหรือไม่พอใจก็ตาม จิต ก็จะคิดตามเรื่องนั้น ๆ ขณะเดียวกัน กิเลส ก็จะปรุงแต่ง จิต ให้คิดต่อไปตามอำนาจของกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่เข้ามาครอบงำ จิต อยู่ในขณะนั้นทำให้ จิต เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สงบ ส่วน ปัญญา จะเป็นผู้รู้ รู้ว่า สติ ไม่สามารถควบคุมจิตได้ ในขณะนั้น ด้วยเหตุที่พลังของ สติ ยังมีน้อย ปัญญา จึงทำหน้าที่เตือน สติ ให้รู้ว่าขณะนี้กำลังทำหน้าที่ ควบคุม จิต ให้อยู่กับบทภาวนาว่า พุทธ -โธ สติ ก็จะระลึกรู้ แล้วดึงเอา จิต กลับมาอยู่กับบทภาวนาเหมือนเดิม เมื่อ จิต คิด เรื่องอื่นอีกก็ใช้สติดึง จิต ให้กลับมาอยู่กับบทภาวนาตามเดิม ทำอยู่อย่างนี้เสมอ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เท่าที่จะสามารถฝึกสมาธิได้ ในที่สุด สติ ก็จะมีพลังสามารถควบคุม จิต ให้สงบอยู่กับบทภาวนาได้ โดยกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านได้อีกแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หมายถึงขณะนั้น จิต ถูก สติ ควบคุมจนสงบได้แล้ว ด้วยพลังของ สติ นั่นเอง การฝึกสมาธิให้ จิต สงบเราต้องทำความรู้จักและเข้าใจ การทำงานของนามธรรม ทั้ง ๕ อย่างนี้อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ฝึกสมาธิแล้วจะเห็นแสง เห็นสี เห็นผีสางเทวดา หรือเห็นสิ่งต่างๆ นี้คือวิธีการฝึกสมาธิ เพื่อให้ จิต สงบอย่างแท้จริง การฝึกสมาธิเพื่อให้ จิตสงบอย่างเดียวแม้จะฝึกเป็นเวลานาน ๆ หลายเดือนหลายปีหรือตลอดชาติก็ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้เลย เพียงแต่ทำให้จิตสงบ หรือ อาจจะเข้าฌาน เมื่อจิตสงบแล้ว จิตก็จะรู้สึก เป็นสุข เมื่อ จิต ติดสุขแล้ว จิต จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำให้เกิด ปัญญา ไม่สามารถชำระกิเลสคือความโลภ ความโกรธ และความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจได้ ต้องฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา คือวิปัสสนากรรมฐาน ต่อไป ๒. การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา (วิปัสสนากรรมฐาน) ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ ได้ยิน ได้ฟัง และได้จากประสบการณ์ชีวิต มีอยู่ด้วยกัน ๒ อย่าง คือ ๒.๑ ปัญญาทางโลก หมายถึง การศึกษาหา ความรู้จากสถาบันการศึกษาต่างๆ และเรียนรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ เพื่อนำมาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ๒.๒ ปัญญาทางธรรม หมายถึง การเรียนรู้จัก ตนเองจากคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น พระองค์ ทรงสอนให้รู้ว่าร่างกายเรานี้ประกอบด้วย ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ พร้อมทั้ง ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา หมายถึง จิต ที่ถูก สติ ควบคุมให้สงบได้แล้วปัญญาจะใช้ให้ จิต คิดพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราและสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ตาม คำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้รู้แจ้งเห็นจริง คือ เห็นสัจธรรม ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ เรียกได้ว่า เกิดปัญญารอบรู้ อย่างแท้จริง ก่อนที่จะฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา จะต้องมาทำความรู้จัก กับ รูปธรรมและนามธรรม ดังต่อไปนี้ ๑) ธาตุ ๔ หมายถึง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ธาตุดิน หมายถึง ส่วนที่มีลักษณะข้นแข็งในร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ธาตุน้ำ หมายถึง น้ำที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำลาย เป็นต้น ธาตุลม หมายถึง ลมที่เข้าออกทุกทวารของร่างกาย เช่น ลมหายใจ เข้า-ออก ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง เป็นต้น ธาตุไฟ หมายถึง อุณหภูมิความร้อนที่ทำหน้าที่ให้ ความอบอุ่นแก่ร่างกายและช่วยเผาผลาญอาหารให้ย่อย เป็นต้น นี่คือ ธาตุทั้ง ๔ ที่รวมกันเป็นร่างกายหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า รูปธรรม ๒) ขันธ์ ๕ หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รูป ในที่นี้ หมายถึง ธาตุ ๔ ประกอบด้วย อาการ ๓๒ ที่รวมเรียกว่า รูป หรือกาย สามารถสัมผัสได้ด้วยสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (เป็นรูปธรรม) เวทนา หมายถึง ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์หรือความรู้สึกเฉย ๆ คือไม่รู้สึกสุขไม่รู้สึกทุกข์ (เป็นนามธรรม) สัญญา หมายถึง ความจำได้ หมายรู้ เช่นจำความทุกข์ จำความสุข จำอดีต จำปัจจุบัน (เป็นนามธรรม) สังขาร หมายถึง เครื่องปรุงแต่งจิตคือกิเลส อันมี ความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้จิตใจเศร้าหมอง (เป็นนามธรรม) วิญญาณ หมายถึง การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (เป็นนามธรรม) เมื่อเราทำความรู้จักกับ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แล้ว เราต้อง จดจำหน้าที่ของรูปและนามแต่ละอย่างให้แม่นยำ เพื่อจะได้นำมาพิจารณาในขณะฝึกสมาธิ ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมีเพียงรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้นที่รวมตัวกันอยู่ทำให้ร่างกาย ของเราสามารถเคลื่อนไหวได้ เช่น นั่ง นอน ยืน เดิน กิน ขับถ่าย พูดได้ และประกอบกิจการงาน อื่น ๆ ได้หลายอย่าง เมื่อเข้าใจใน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อย่างถ่องแท้แล้วก็เริ่มฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาคือ การนำเอา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาพิจารณาให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป และพิจารณาให้เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของตัวเรา เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้วก็ตายไปในที่สุด ทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือ ทุกขัง คือความทุกข์กายทุกข์ใจ เมื่อมีร่างกายเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ ต้องเลี้ยงร่างกายด้วยปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีการ พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นทุกข์ อนัตตา คือ ความสูญเปล่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะยั่งยืน ทุกอย่างในโลกนี้จะต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา ทั้งมนุษย์และสัตว์รวมทั้งตัวเรา เมื่อพิจารณาได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ควรติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เพราะเป็นเหตุของการ เกิด ทุกข์ ตามพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน ซึ่งมีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นำมาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ตาม คำสอนบทนั้นๆ เพื่อนำมาชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนเป็นเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ที่มารวมกันเป็นร่างกายของเราเท่านั้น ทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปในที่สุดและทุกอย่างเป็น อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทุกขัง คือความทุกข์กาย ทุกข์ใจ อนัตตา คือความสูญเปล่าจะเป็นสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ก็จะต้องสูญสลาย กลายเหลือเพียงธาตุดินในที่สุด จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับวัตถุสิ่งของนั้น ๆ ๑. วิธีพิจารณาเวทนา เวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกสุขและอุเบกขา ความรู้สึกสบายกาย สบายใจ เรียกว่า “สุขเวทนา” ความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ เรียกว่า “ทุกขเวทนา” ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ทุกข์และก็ไม่สุขเรียกว่า “อุเบกขาเวทนา” ซึ่งเป็นเพียงนามธรรมหนึ่งที่ประกอบอยู่ ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนไว้ว่า ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิให้ยึดมั่น ถือมั่นในความทุกข์หรือความสุขที่เกิดขึ้น ๒. วิธีพิจารณาสัญญา สัญญา หมายถึง ความจำได้หมายรู้ คือ จำความทุกข์ จำความสุข จำอดีต จำปัจจุบัน จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ที่อายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายใน เมื่อเรา จดจำสิ่งใดไว้จะเป็นทุกข์หรือเป็นสุขก็ดี หรือจำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น เช่น เมื่อเราจำทุกข์ เราก็จะทุกข์ระทมขมขื่น หรือถ้าเราจำสุขก็จะมีความยินดีพอใจ ติดอยู่ในสุข แล้วเกิดทุกข์ตามมา กลัวว่าสุขเหล่านั้นจะหายไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาให้เห็นว่าสัญญาเป็นเพียงนามธรรมหนึ่งที่ประกอบในร่างกายมนุษย์และสัตว์เท่านั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป พระพุทธองค์ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่สัญญาได้จำไว้ ๓. วิธีพิจารณาสังขาร สังขาร หมายถึง เครื่องปรุงแต่ง จิต คือ กิเลส อันมีความโลภ ความโกรธ และความหลง ความโลภคือความอยากได้ ความโกรธคือ ความไม่พอใจ และความหลงคือความรักใคร่พอใจในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเพียงนามธรรมหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ท่านจะต้องพิจารณาให้ถูกต้องเป็น ขั้นตอน การพิจารณาในกิเลสทั้ง ๓ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้พิจารณาความหลงก่อน เพราะความหลงเป็นเหตุให้เกิดความโลภ และความโกรธตามมา เช่น ตาเห็นรูป ความหลงปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ รักใคร่ใน สิ่งนั้น ความโลภก็จะปรุงแต่งให้อยากได้ แสวงหามาเป็นของตน เมื่อไม่ได้ ดังใจปรารถนา ความโกรธก็จะมาปรุงแต่ง ให้เกิดความไม่พอใจ หรือน้อยเนื้อต่ำใจหรือเมื่อมีเหตุสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป ก็จะเกิดความโกรธ อาฆาต พยาบาทปองร้าย ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะความหลงรักใคร่ พอใจในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า เมื่อตากระทบรูปใด ๆ ก็ตาม ให้พิจารณาให้เห็นว่า รูปสักแต่ว่ารูปธรรมอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นเพราะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นอยู่นี้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไปในที่สุดนี่คือตัวอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาสังขาร เครื่องปรุงแต่งจิตขอให้ท่านพิจารณาต่อไป เมื่อมีเสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจกระทบเรื่องราวต่าง ๆ ก็ขอให้ท่านพิจารณาตามวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเห็นว่ากิเลสทั้งสามอย่างเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ จงระงับยับยั้งเหตุที่ ทำให้เกิดทุกข์นั้นเสียโดยการลดความหลง ความรักใคร่ พอใจ ใน สิ่งต่าง ๆ ลดความโลภแล้ว ความโกรธ ก็จะลดลงตามไปด้วย ขอให้ท่านฝึกตามวิธีดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ กิเลสของท่านก็จะเบาบางลง ความทุกข์ก็จะคลายลง เพราะท่านเห็นโทษของกิเลสอย่างแท้จริง เมื่อท่านฝึกจิตมิให้อยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งสามอย่างนี้ได้แล้ว หมายความว่าท่านได้มีสติปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความทุกข์ ก็จะคลายลงแล้วหมดไปในที่สุด ความสุข ความสบาย ก็จะ เกิดขึ้นมาแทนที่ในจิตใจของท่าน นี่คือการ ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “วิปัสสนา” ๔. วิธีพิจารณาวิญญาณ วิญญาณเป็นนามธรรมหนึ่งที่มีหน้าที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตามองเห็นรูป วิญญาณรับรู้ว่าเป็นรูป แต่ก็ขึ้นอยู่กับสัญญา ความจำ ถ้าเคยเห็นก็จะจำได้ แต่ถ้าไม่เคยเห็นก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เมื่อหูได้ยินเสียง วิญญาณรับรู้ว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นเดียวกันเมื่อกระทบกับอายตนะทั้ง ๖ แล้วทำให้เกิดอารมณ์อย่างไร จะเป็นทุกข์หรือเป็นสุข หรือรู้สึกเฉย ๆ ก็ขึ้นอยู่กับนามธรรมที่เรียกว่า “จิต” ๕. วิธีพิจารณาจิต จิต เป็นนามธรรมหนึ่งที่มีหน้าที่คิดตามสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะเกิดความพอใจหรือไม่พอใจ ก็ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้น จิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลสหรือปัญญา ถ้าขณะนั้นจิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลสคือ ความหลง จิตก็จะมีความรู้สึกพอใจรักใคร่ใน สิ่งที่มากระทบ แต่ถ้าจิตอยู่ใต้อำนาจของความโลภ ก็จะมีความรู้สึกอยากได้สิ่งนั้นมาเป็นของตนเอง ถ้าจิตอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ จิตก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจในสิ่งนั้น ๆ ๖. วิธีพิจารณาอารมณ์ อารมณ์เป็นนามธรรมหนึ่งที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องจากจิต คือเมื่อจิตคิดตามอำนาจของกิเลสข้อใดข้อหนึ่งแล้วอารมณ์ก็จะเกิดขึ้นตามกิเลสข้อนั้น ๆ เช่น หูเราได้ยินเสียงด่า คำส่อเสียด นินทา ก็จะเกิดอารมณ์ไม่พอใจขึ้น มีการโต้ตอบทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือเกิดการทำร้ายถึงขั้น เสียชีวิต หรือเมื่อหูได้ยินเสียงที่ไพเราะก็เกิดอารมณ์ที่ พอใจในเสียงที่ได้ยิน นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ให้เกิดอารมณ์ส่วนการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของอายตนะทั้ง ๖ นั้น อารมณ์ก็จะ เกิดขึ้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือความพอใจหรือไม่พอใจ พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีความไม่เที่ยงเป็นพื้นฐาน มีความตั้งอยู่เป็นปริมาณ มีความสูญสิ้นเป็นที่สุด ๗. วิธีพิจารณาสติ สติเป็นนามธรรมอย่างหนึ่งที่มีหน้าที่ระลึกรู้ได้ว่าขณะนี้ จิตกำลังคิดอะไร วาจากำลังพูดอะไร กายกำลังทำกิจกรรมใด เช่น จิตคิดอยากรวยทรัพย์สมบัติมาก ถือว่าขณะนั้นจิตกำลังถูกกิเลส คือ ความโลภครอบงำอยู่ ทำให้จิตคิด อยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น มาเป็นของตน หาวิธีใช้วาจาพูดปด หลอกลวง เอาทรัพย์สินเงินทองหรือใช้กายประกอบกรรมชั่ว เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ จี้ปล้น หรือทุจริตคดโกง เพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นมาเป็นของตนเอง ลักษณะนี้ถือว่า มีสติระลึกรู้เรียกว่า “สติชั่ว” ตามอำนาจของกิเลส ตรงกันข้ามถ้าผู้ใดมีสติดี ที่เรียกว่า “สติดี” ตามอำนาจของปัญญาก็จะระลึกรู้ได้ว่า เรื่องที่จิตคิด วาจาที่พูด และกายประกอบ กิจกรรมต่าง ๆดังกล่าวมาแล้ว เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี เป็นการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว ซึ่งต้องอาศัยปัญญามาพิจารณา ๘. วิธีพิจารณาปัญญา ปัญญาคือความรู้ ถ้าผู้ใดมีปัญญาน้อย ก็จะไม่สามารถควบคุมจิตให้เอาชนะกิเลสอันมีความโลภ ความโกรธ และความหลงได้ ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เป็นเราเป็นเขา ติดอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิต อารมณ์ หลงอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ถือมั่นอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คิดว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ถ้าผู้ใดมีมากก็จะเป็น ผู้วิเศษเหนือคนอื่นๆ ดังที่ได้เกิดกับมนุษย์ทั่วไปในโลกนี้ ส่วนผู้ใดมีสติปัญญามาก เมื่อเกิดการกระทบกันของอายตนะทั้ง ๖ ทั้งอายตนะภายในและอายตนะ ภายนอกขึ้น วิญญาณ ก็จะรับรู้ จิตก็จะคิดตาม มีอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น สติระลึกรู้ได้ว่าจิตกำลังคิดเรื่องอะไร สติจะทำหน้าที่ควบคุมจิตให้คิดอยู่ในเรื่องนั้นๆ ปัญญาเป็นผู้รู้ มาพิจารณาเรื่องที่คิดว่า ถูกกฎหมาย ถูกครรลองคลองธรรม ถูกจารีตประเพณีหรือไม่ ปัญญาก็จะทำหน้าที่ ชี้แนะจิตและใช้สติควบคุม กายวาจาและใจ ให้ประพฤติปฏิบัติตามคือ เลือกที่จะประพฤติปฏิบัติดีตาม พระธรรมคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ถ้าจิต คิดสิ่งที่ผิดกฎหมายผิดครรลองคลองธรรม ผิดจารีตประเพณี ปัญญาก็จะพิจารณาและใช้สติควบคุมจิตที่ คิดผิด ปัญญา คือผู้รู้ ก็จะอบรมสั่งสอนจิต ให้เลิกคิดผิด และห้ามวาจาไม่ให้พูดผิด ห้ามกายไม่ให้ กระทำผิด เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับตนเองและผู้อื่น ผู้ใดมีสติปัญญามาก รอบรู้ในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ และนามธรรมต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะรู้จักกิเลสอันเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ รู้วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ คือการชำระกิเลสทั้ง ๓ อย่างมี ความโลภ ความโกรธ และความหลงให้หมดไปจากจิตใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์เข้าใจในความเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เป็นของเราแม้แต่ตัวของเราเอง เช่นตัวเราเมื่อเกิดมาแล้ว ก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้วก็ตายไปในที่สุดพระพุทธองค์ทรงสอน ให้พิจารณาต่อไปอีกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา และเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ ล้วนเป็น อนิจจัง คือความ ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกอย่างเป็น ทุกขัง เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ เช่น ร่างกายเราต้องมีปัจจัย ๔ ต้องเลี้ยง ด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค และเป็น อนัตตา ในที่สุดคือต้องตายร่างกายก็สูญสิ้นไปจากโลกนี้ แม้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ก็ย่อมสูญสลายไปตามกาลเวลา แล้วยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่จบไม่สิ้น เป็นทุกข์ตลอดไป ทุกภพ ทุกชาติ เมื่อเข้าใจตามคำสอนของพระพุทธองค์ท่านแล้ว ความทุกข์ก็จะคลายลง ผู้มีปัญญาก็จะหาทางพ้นทุกข์ ด้วยวิธีปฏิบัติตามคำสอน เพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่าย ตายเกิด เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบได้ก่อน จึงค่อยใช้ สติปัญญา ควบคุมจิตให้คิดตาม คำสอนแต่ละบทเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป การเจริญสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เมื่อได้ทำความเข้าใจกับธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ และนามธรรมทั้งหลาย ก็ตั้งใจ ฝึกสมาธิ แล้วนำคำสอนตั้งแต่บทแรกมาพิจารณา เป็นต้นว่า พระองค์ทรงสอนไว้ว่า ร่างกายของเราประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ และนามธรรมทั้งหลายจริงหรือไม่ เราก็เริ่มพิจารณา ตั้งแต่รูปที่มี ธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อายตนะทั้ง ๖ นั้น เป็น บ่อเกิดแห่งความทุกข์และเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่รู้จบสิ้น นี่คือตัวอย่างการฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแต่ละบทตามคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงดังนี้แล้ว ก็จะเกิดปัญญาทางธรรมรู้ในรูปธรรม และนามธรรม คือความรอบรู้ในธาตุในขันธ์นั่นเอง นอกจากนั้น เรายังต้องศึกษาหาความรู้ จากพระธรรมคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีอยู่ในตำราทั่วไป เช่น นวโกวาท หรือหนังสือนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรม ชั้นเอก ตลอดถึงในพระไตรปิฎก ขอให้ท่านเลือกคำสอนที่สมควรแก่ท่าน ถ้าท่านมีความรู้พื้นฐานระดับใด ก็ให้ศึกษาตามลำดับขั้นตอนดังนักเรียนที่ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาล ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยม ศึกษาและอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ตัวท่านเองย่อมรู้ว่าท่านศึกษาอยู่ในระดับใดแล้วนำคำสอนข้อนั้นๆ มาปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น เริ่มศึกษาและปฏิบัติโดยนำพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่หนังสือนักธรรมชั้นตรี โดยเริ่มตั้งแต่บทแรก พระองค์ก็จะทรงสอนเรื่องของสติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว พิจารณาว่าเรามีคุณธรรมในข้อนี้หรือไม่ ถ้ามีแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่มีจะเกิดโทษอย่างไรซึ่งจะรู้จะเห็นได้ด้วยตัวเราเองว่า เรามีคุณธรรมในข้อนี้หรือยัง ถ้ามีแล้วขอให้เรารักษาและปฏิบัติให้เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากเรายังไม่มีคุณธรรมข้อนี้ ขอให้ท่านจงตั้งสติ ระลึกได้และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ก่อนที่เราจะประกอบกรรมใดๆ จงใช้สติ ควบคุมจิตให้คิดพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญให้รอบคอบว่าเรื่องที่กำลังจะใช้วาจา ใช้กายประกอบกรรมนั้น ว่ามีโทษหรือประโยชน์อย่างไร ถ้าเห็นว่ามีโทษ จงงดประกอบกรรมนั้นเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์กับตนเองหรือผู้อื่น ขอให้ปฏิบัติตามคำสอนนั้น จึงจะถือว่าท่านเป็นผู้เจริญ สมาธิวิปัสสนาจนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมคำสอนข้อนั้นๆ และท่านยังสามารถนำพระธรรมคำสอนไปสอนให้ผู้อื่น รู้ตามได้อีกด้วย หรือนำคำสอนบทอื่น ๆ เช่น หิริ โอตตัปปะ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป หรือ ความเพียร ๔ อย่าง หรือ คำสอนบทอื่น ๆ มาพิจารณาได้อีกด้วย นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางให้เรานำคำสอนอีก มากมายมาพิจารณาแล้วปฏิบัติตามให้เกิดปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงในคำสอนนั้น ๆ ต่อไป ดังกับคำที่ว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ขอให้ศึกษาและปฏิบัติตามลำดับ ความรู้ของตัวท่านว่าควรจะนำธรรมข้อใดมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ในสัจธรรม ตามพระธรรมคำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าหากผู้ใดได้ศึกษาและปฏิบัติมามากพอสมควรแล้ว และปฏิบัติหวังเข้าสู่แดนวิมุตเพื่อความหลุดพ้น ก็ขอให้นำคำสอนบทต่างๆ เหล่านั้นนำมาปฏิบัติเพื่อชำระกิเลสได้ ตัวอย่างเช่น “สติปัฏฐาน๔” ซึ่งพระองค์ ให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เพื่อมิให้ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมนามธรรมซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไป อนึ่ง การฝึกสมาธิมีอีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถฝึกสมาธิได้ตลอดเวลา คือ เวลาที่เราทำงาน หรือกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ต้องใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับงานที่ทำอยู่ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังเขียน หรืออ่านหนังสือ ต้องใช้สติควบคุมจิต ให้ระลึกรู้ อยู่กับเรื่องที่เขียนหรืออ่านในขณะนั้น ไม่ให้จิตคิดเรื่องอื่นๆ หรือขณะที่สวดมนต์ ก็เอาจิตไว้กับบทสวดมนต์นั้นๆ ในขณะที่เรากำลังฟังธรรมเทศนา หรือฟังคำบรรยายเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็ต้องใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับเรื่องที่กำลังฟัง ในขณะที่เรากำลังพูดหรือคุยกันเรื่องอะไรอยู่ก็ต้องใช้สติควบคุมจิต ให้อยู่กับเรื่องที่กำลังพูด กำลังคุยอยู่นั้น ขณะนั่ง นอน ยืน เดิน ทุกอิริยาบถ ต้องใช้ สติ ควบคุม จิตให้อยู่กับอิริยาบถนั้นๆ แม้แต่เวลาที่รับประทานอาหาร หรือกำลังถ่ายหนัก ถ่ายเบา ก็ต้องใช้ สติ ควบคุม จิตให้อยู่กับการกระทำนั้นๆ เป็นต้น นี่คือการฝึกสมาธิเป็นประจำจนเป็นนิสัย ในที่สุดก็จะเกิดพลังสติ อันมั่นคงสามารถควบคุมจิตได้ตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติก็ระลึกรู้จะสามารถควบคุมจิต และใช้ ปัญญา พิจารณา มิให้ลุ่มหลงมัวเมา ในสิ่งที่มากระทบ นี่คือวิธีฝึกสมาธิ เพื่อให้เกิด พลังสติ ... แม่ในนามคณะ ป.เจริญธรรม จึงได้เขียนประสบการณ์ต่าง ๆ จากการฝึกจิตใจให้สงบด้วยสมถกรรมฐาน และฝึกจิตให้เกิดปัญญาด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงขอให้ลูก ๆ และผู้ที่สนใจใคร่รู้ จงนำแนวทางดังกล่าวนี้ไปปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่ธรรม... |